รัฐสภา 17 ต.ค. – “จุรินทร์” อภิปรายย้ำจุดยืน “ประชาธิปัตย์” ไม่เห็นชอบรายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-ไม่ส่งให้รัฐบาล พร้อมเสนอ 5 หลักการ ต้องสร้างปรองดอง ไม่ทำเพื่อตัวเอง ไม่เป็นหัวเชื้อให้ทำผิดซ้ำ ไม่ละเมิด รธน. ไม่รวมความผิดทุจริตอาญาร้ายแรง และ ม.112
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายถึงเหตุผลของการที่พรรคไม่เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่ได้พิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ว่าตนและพรรคทราบกันดีว่ารายงานฉบับนี้เป็นเพียงการเสนอแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และไม่ใช่เป็นการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่แนวทางในรายงานฉบับดังกล่าวจะเป็นหัวเชื้อในการนำไปสู่การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการประชุม สส.ของพรรค เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ต.ค.) มีมติ 2 ประการคือ สส.ของพรรคไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ และหากที่ประชุมสภาฯ เห็นควรส่งรายงานให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการก็จะไม่เห็นชอบให้ส่งรายงานฉบับนี้ไปยังรัฐบาล โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าการนิรโทษกรรมนั้นสามารถทำได้ และในอดีตก็เคยทำกันถึง 23 ครั้ง เช่น การนิรโทษกรรมเหตุการณ์วันที่ 4-6 ต.ค. 2519 ในปี 2521 สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือการนิรโทษกรรมผู้ต่อต้านสงครามญี่ปุ่น แต่มีสิ่งที่ไม่เคยทำและไม่เคยมี คือการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ให้รายละเอียดว่า มาตรา 110 ตามประมวลกฎหมายอาญา คือความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งกระทำผิดต่อร่างกายหรือเสรีภาพ ส่วนมาตรา 112 คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมาตรา 112 มีไว้เพื่อคุ้มครองประมุข เฉกเช่นอารยประเทศทั่วโลกที่ล้วนแล้วแต่มีกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดี หรือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาทิ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เดนมาร์ก หรืออีกหลายประเทศในโลก ล้วนแล้วแต่มีบทคุ้มครององค์ประมุขของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักสำคัญยิ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยจึงไม่เคยมีการนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112
นอกจากนี้นายจุรินทร์ยังได้อภิปรายถึงแนวทางของการนิรโทษกรรมในอนาคตว่าควรยืนอยู่บนหลักการ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ต้องเป็นการนิรโทษกรรมที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งแตกแยก เพราะเท่ากับเป็นการนับหนึ่งของการต้องต่อสู้กับแรงเสียดทาน และการนิรโทษกรรมต้องเป็นความเห็นพ้องต้องการของสังคม เพื่อไม่ให้ต้องเกิดความแตกแยกขัดแย้งครั้งใหญ่อีกต่อไปในอนาคต
2.ต้องไม่เป็นการนิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง เพราะสุดท้ายจะไปไม่รอด เพราะจะเกิดแรงต้านครั้งใหญ่และนำไปสู่การแตกแยกครั้งใหม่เกิดขึ้น ดังเช่นที่เคยได้รับบทเรียนมาแล้วจากความพยายามที่จะผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอยในอดีต ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่รอด
3.ต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจ หรือหัวเชื้อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต เพราะจะทำให้คนไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด เนื่องจากเมื่อทำผิดแล้วจะได้รับการล้างผิดในที่สุด
4.ต้องไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือแม้แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งรวมตั้งแต่รัฐสภา รัฐบาล และองค์กรอื่นๆ
5.การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ 1.ต้องไม่รวมความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน 2.ต้องไม่รวมความผิดคดีอาญาร้ายแรง 3.ที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่รวมความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112
ภายใต้หลักการดังกล่าวหากจะมีการนิรโทษกรรม นายจุรินทร์ เห็นว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะ “ความผิดอันเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองทั่วไป” พร้อมกับยกตัวอย่างดังนี้ การนิรโทษกรรมความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจร ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.โรคติดต่อ และอื่นๆ ซึ่ง กมธ.วิสามัญเองได้แยกแยะไว้ในรายงานว่ามีความผิดทั้งสิ้น 17 ฐาน ตาม พ.ร.บ. 25 ฉบับ แต่ยังจำเป็นต้องพ่วงหลักการเพิ่มเติมไว้อีกข้อหนึ่ง คือต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดแรงเสียดทานที่จะนำไปสู่ความแตกแยกขัดแย้งอีกต่อไปในอนาคต
นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องสำคัญอีกประการ คือเหตุผลที่ตนและพรรคไม่เห็นชอบกับรายงานของ กมธ.ฉบับนี้ และไม่เห็นควรส่งรัฐบาล คือ
1.เพราะรายงานของ กมธ.ฉบับนี้ได้รวมแนวทางการนิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 เอาไว้ โดยในรายงานได้ระบุไว้ชัดว่าให้พิจารณาเป็น 3 แนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เกี่ยวกับมาตรา 110 มาตรา 112 คือ 1.ไม่นิรโทษกรรมเลย 2.นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข และ 3.นิรโทษกรรมสุดซอย แบบไม่มีเงื่อนไขเพื่อเป็น “ทางเลือก” ซึ่งตนและพรรค เห็นว่าจาก 3 แนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะใน 2 แนวทางหลังที่ให้มีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข และนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นมีความล่อแหลม
2.ข้อความและความเห็นกรรมาธิการที่ระบุไว้ในข้อสังเกต ข้อ 9.1 หน้า 54 ซึ่งข้อสังเกตของ กมธ.นี้ หากส่งถึงรัฐบาล รัฐบาลก็จะรับข้อสังเกตนี้ไปด้วย ซึ่งมีการระบุว่า “คณะรัฐมนตรีคือรัฐบาลควรพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยเร็ว” ซึ่งทำให้จะหมายรวมไปถึง 3 แนวทางในการนิรโทษกรรม มาตรา 110 และมาตรา 112 เข้าไปด้วย และยังต่อท้ายอีกด้วยว่าการดำเนินต้องรายงานให้สภาฯ ทราบ ว่าได้ทำไม่ทำ หรือทำอย่างไร เพื่อให้สภาฯ ได้ติดตามความคืบหน้าได้ต่อไป
“ผลจากรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. จะทำให้รัฐบาลหรือกลไกอื่น อาจนำรายงานฉบับนี้ ถ้าผ่านสภาฯ ตลอดจนข้อสังเกตของ กมธ. ไปเป็นสารตั้งต้นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามความผิดในมาตรา 110 และ 112 ต่อไปได้ และหากสภาฯ เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ สุดท้ายสภาฯ อาจกลายเป็นตราประทับความชอบธรรมในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 ต่อไปในอนาคตได้ ตนและพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ และไม่เห็นควรส่งรัฐบาลรับไปพิจารณา” นายจุรินทร์ กล่าว.319-สำนักข่าวไทย