กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – ม.หอการค้าไทย คาดกินเจปีนี้เงินสะพัด 4.5 หมื่นล้านบาท คนใช้เงินมากขึ้นเพราะของแพงขึ้นไม่ใช่กำลังซื้อเพิ่ม ประเมินแจกเงิน 10,000 บาท หนุนจีดีพีโตเพิ่ม 0.2-0.3% เงินหมุน 2-3 รอบ สร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 2.5-4.5 แสนล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ปี 2567 โดยสำรวจระหว่าง วันที่ 17-23 กันยายน 2567 จำนวน 1,265 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนไม่กินเจ 63.9% กินเจ 36.1% เหตุผลที่กินเจ เป็นเพราะตั้งใจทำบุญ 20.2% ลดการกินเนื้อสัตว์ 17.0% ส่วนไม่กินเจเป็นเพราะอาหารเจแพง 26.1% ไม่มีเชื้อสายจีน 23.6% เศรษฐกิจไม่ดี 12.1% โดยมีมูลค่าการเดินทางไปทำบุญเฉลี่ย 4,523.30 บาทต่อ 2-3 วันต่อทริป หรือทำบุญเฉลี่ย 2,081.61 บาทต่อคน ประชาชนมองว่าเทศกาลกินเจปีนี้จะคึกคักเท่าเดิม 69.3% คึกคักมากขึ้น 16.9%
คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจประมาณ 45,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีการใช้จ่าย 44,558 ล้านบาท สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นมาก ประชาชนยังระมัดระวังในการจับจ่ายแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เข้ามา แต่ไม่มีผลกับการจับจ่ายช่วงเทศกาลกินเจมากนัก อย่างไรก็ตาม เงินสะพัดกินเจปีนี้ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 โดยมีมูลค่าการใช้สูงกว่าปีก่อน คือปรับจาก 4,587 บาท/คน เป็น 4,696 บาท/คน แต่มูลค่าที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากของราคาแพงขึ้น ไม่ใช่กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อดูจากปริมาณการซื้อพบว่าส่วนใหญ่ซื้อในปริมาณเท่ากับปีก่อน
ขณะที่ผลสำรวจต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการที่ได้รับเงินสด 10,000 บาท สำรวจจากผู้ไม่ถือบัตร 80.2% ถือบัตร 19.8% ส่วนใหญ่เลือกเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ 93.0% อยากได้เป็นเงินดิจิทัลวอลเลตก 7% โดยส่วนใหญ่ บอกว่าจะแบ่งใช้เงินหลายครั้ง67.3%, ใช้หมดครั้งเดียว 19.2% และไม่แน่ใจ13.5 % โดยสินค้าที่สนใจซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก คือทองคำ อัญมณี 17.8% รองลงมา เครื่องใช้ไฟฟ้า10.7%, เครื่องมือสื่อสาร 8.8%, สินค้าอุปโภคบริโภค 8.4% และสินค้าวัตถุดิบเพื่อการเกษตรและการค้า 8.3%
นายธนวรรธน์ ประเมินผลของมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรก มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 14.5 ล้านคน วงเงิน 145,000 ล้านบาท จะส่งผลต่อจีดีพีปี 2567 เพิ่ม 0.2%-0.3% เกิดการหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ สร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 2.5-4.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัว 2.5-3% ไตรมาส 4 ขยายตัว 3.8-4.3% ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวในกรอบเฉลี่ย 3-3.5% ทำให้ทั้งปี 2567 มีโอกาสสูงขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.6-2.8% .-516.-สำนักข่าวไทย