กรุงเทพฯ 23 เม.ย.- “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” แจ้งจับ “กรมชลประทาน” บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนและเขตป่าไม้ถาวรสร้างแก้มลิงเกาะพระทอง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา “วราวุธ” ระบุเป็นรู้สึกตกใจและเศร้าใจ เตือนทุกหน่วยงานใช้ป่าชายเลนอย่าทำข้ามขั้นตอนกฎหมาย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า มอบหมายให้เจ้าหน้าที่แจ้งจับกรมชลประทานที่สร้างแก้มลิงเกาะพระทองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนและเขตป่าไม้ถาวร ทั้งนี้สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการแก้มลิงเกาะพระทอง (โครงการฟื้นฟูหนองน้ำทุ่งอุ่น) พร้อมอาคารประกอบ บริเวณตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงาขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทองซึ่งร่วมกับสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 กรมชลประทานจัดสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง วงเงินงบประมาณกว่า 350 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวบุกรุกป่าชายเลนและป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนดำเนินการในเนื้อที่กว่า 428 ไร่
นายวราวุธกล่าวต่อว่า รู้สึกเศร้าใจ ตกใจ และเป็นกังวลเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลน แม้หน่วยงานที่เข้าดำเนินการจะอ้างว่า มีเอกสารสำคัญเป็นหนังสือสำคัญที่หลวงและคิดว่า สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ในความเป็นจริง ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 921/2558 การดำเนินการในที่ดินที่ทำให้เสื่อมสภาพป่า แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน นั้นที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายป่าไม้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และจากการตรวจสอบไม่พบเอกสารคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ฯ มายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อขอยกเว้นมติครม.ในการใช้พื้นที่ แม้ว่าจะเป็นโครงการเพื่อสาธารณะประโยชน์ก็ตาม
ทั้งนี้ขอเตือนให้ดำเนินการอย่างถูกต้องและรอบคอบ ตามกฎหมาย โดยยกพื้นที่นี้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น หากผิดจริงจะต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจังและดำเนินการให้ถึงที่สุด พร้อมกำชับทุกฝ่ายช่วยตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่และกฎหมายให้ครบถ้วนก่อนดำเนินการเพื่อมิให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก
อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจในความประสงค์ดีขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทองและกรมชลประทานที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการเอง หากกระทำผิดก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย
นายวราวุธกล่าวว่า ได้ย้ำกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างชัดเจน ให้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาตามข้อกฎหมายอย่างเร่งด่วนและและเป็นธรรม อีกทั้งยังได้กำชับกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและให้เร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตระหนักและเข้าใจในเป้าหมายในการทำงานของทุกหน่วยงานราชการคือ เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน แต่ภายใต้การสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีมีความมั่นคงได้นั้น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องคงอยู่อย่างสมดุล หากธรรมชาติพัง สังคมก็จะพังเจริญต่อไปไม่ได้ ไม่มีใครอยู่เหนือธรรมชาติ และไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้เช่นกัน
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า สั่งการให้ตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้ว พบว่า พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนและเขตป่าไม้ถาวรทั้งแปลง นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่คาบเกี่ยวกับเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ในพื้นที่พบต้นไม้ถูกทำลายทั้งแปลงจึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคุระบุรีตาม ปจว.ข้อ 5 ลงวันที่ 22 เมษายน. 2565 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อีกทั้งยังขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ที่ห้ามมิให้อนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าชายเลนทุกกรณี ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใช้ประโยชน์โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีๆ ไป
ทั้งนี้ได้มีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมชลประทานให้ระงับการดำเนินการโครงการดังกล่าวในทันทีตามอำนาจมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
ล่าสุดมอบหมายให้นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เร่งรัดทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายซึ่งประเมินเบื้องต้นจากการบุกรุกทำลายป่าชายเลนมีมูลค่ากว่า 29 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย