มหาสารคาม 25 ม.ค.-ชาวบ้านหนองอีตื้อ จ.มหาสารคาม หันมาหารายได้เสริมจากขุดรูดินเพื่อหา “ปูนา” หลังจากเลี้ยงไว้ในนาข้าวควบคู่กับการปลุกข้าวไปด้วย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะมีปูนามาให้จับหลายตัว
นางสำรอง บรรณกิจ เกษตรกรปลูกข้าวเลี้ยงปูนาเล่าว่า เริ่มเลี้ยงปูนาในครั้งแรกในที่นาเนื้อที่ 2 ไร่ โดยนำพ่อพันธ์ แม่พันธุ์ปูนา ที่ได้จากตามท้องไร่ ท้องนา มาทดลองเลี้ยงไว้ภายในบ่อเล็กๆ ในนาข้าว โดยเน้นให้อยู่ตามธรรมชาติ เอากระเบื้องทำเป็นที่กั้นบ่อ เพื่อป้องกันปูไต่ออกจากบ่อ ปรากฏว่า ปูนาที่เลี้ยงไว้ประมาณ 1 ปี สามารถเจริญเติมโตและขยายพันธุ์ได้ดี สามารถจับขายและนำมาแปรรูปสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ จึงขยายพื้นที่การเลี้ยงให้มากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงปูนาแบบธรรมชาตินี้ ได้ความรู้มาจากสังเกตจดจำการดำรงชีวิตของปูนา ว่าปูนาชอบอาศัยอยู่ในสภาพพื้นที่แบบไหน เนื่องจากตนเองเป็นชาวนา ก็จะเห็นภาพเหล่านี้จนชินตา ว่าปูชอบอยู่ในพื้นที่มีต้นข้าวมากกว่าบนพื้นซีเมนต์ อีกทั้งยังเคยทดลองเลี้ยงทั้งในบ่อซีเมนต์และบ่อกระเบื้องมาก่อน ทำให้เห็นว่า ปูนามีโอกาสเติบโตน้อยมาก ขาหัก และรสชาติรวมถึงกลิ่นหอมมันปูก็ต่างกัน ที่สำคัญพื้นที่เลี้ยงต้องไม่ใช้สารเคมี เพราะจะทำให้ปูตาย โดยจะใช้ปุ๋ยคอกแทน เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของปูด้วย
การเลี้ยงปูแบบธรรมชาติ แค่ปล่อยเลี้ยงในนาข้าว เอากระเบื้องทำเป็นที่กั้นไม่ให้ปูไต่ออก ให้ปูได้อาศัยต้นข้าวเป็นที่หลบซ่อนตัว และเป็นร่มเงา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็ปล่อยให้ปูได้ขยายพันธุ์เอง ส่วนอาหารก็แค่เอาข้าวเหนียว หรือข้าวสวยที่เหลือจากรับประทาน มาวางเป็นจุดๆ ไม่ให้โดนน้ำ จากนั้นปูก็จะไต่มาหากินเองในตอนกลางคืน เมื่อถึงฤดูหลังเก็บเกี่ยวข้าว เพียงแค่ถือเสียมกับถัง 1 ใบ เดินลงไปยังทุ่งนา ขุดเซาะไปตามพื้นดินที่ปูขุดรูไว้ ใช้เวลาขุดไม่นานก็ได้ปูตามที่ต้องการแล้ว
สำหรับปูนาที่ได้ก็จะนำกลับไปทำเป็นอาหารรับประทานในครอบครัว และส่วนหนึ่งก็จะนำไปแปรรูปเป็นน้ำพริกมันปู และแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ลาบมันปู เพื่อจำหน่ายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปูนาที่เลี้ยงไว้.-สำนักข่าวไทย