นนทบุรี 24 ก.ย. – รมว.พาณิชย์ เผยยอดส่งออกเดือน ส.ค.64 ชะลอตัวลงเล็กน้อย ผลกระทบโควิด-19 ปิดโรงงานผลิตบางแห่งบางส่วน แต่ยังขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 8.93 โดยมีมูลค่าส่งออกรวมของเดือน ส.ค. อยู่ที่ 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากดูยอดส่งออก 8 เดือน 64 โตถึงร้อยละ 15.25 มั่นใจทั้งปีโตเกินเป้าร้อยละ 4 โดยอาจเห็นโตบวก 2 หลักได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนสิงหาคม 2564 มีมูลค่า 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบเดือนกรกฎาคม 2564 ยังถือว่าขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย จากผลกระทบปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และบางโรงงานผลิตบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน และระบบโลจิสติกส์มีปัญหาด้านการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ในการส่งออก แต่ถือว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ดีอยู่ ทำให้ยอดส่งออกสินค้าโดยรวมช่วง 8 เดือนของปี 2564 ตั้งแต่ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 176,961.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.25 ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าจากเป้าหมายส่งออกในปีนี้จะเป็นบวกร้อยละ 4 โดยมองว่าตัวเลขส่งออกน่าจะเป็นบวก 2 หลัก แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นคงจะต้องมีการติดตามกันต่อไป และหากดูตัวเลขการนำเข้าในเดือน ส.ค.64 มีมูลค่า 23,191.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดนำเข้า 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 175,554.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.97 ทำให้ไทยเกินดุลการค้า 8 เดือน อยู่ที่ 1,406.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ขยายตัว มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 23.6 และหากดูลึกในรายสินค้า พบว่า ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มร้อยละ 98.8 บวกต่อเนื่อง 11 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่มร้อยละ 84.8 บวก 5 เดือนต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม เพิ่มร้อยละ 51.0 บวก 6 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มร้อยละ 48.4 บวก 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าวเพิ่มร้อยละ 25.4 กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และอาหารสัตว์ เพิ่มร้อยละ 17.3 บวก 24 เดือนต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐ เพิ่มร้อยละ 16.2 จีน เพิ่มร้อยละ 32.3 ญี่ปุ่น เพิ่มร้อยละ 10 อาเซียน เพิ่มร้อยละ 15.2 สหภาพยุโรป เพิ่มร้อยละ 16.1 อินเดีย เพิ่มร้อยละ 44.2 ซึ่งยกเว้น 3 ตลาด ได้แก่ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และ CLMV ที่ขยายตัวติดลบ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในเดือน ส.ค.64 ที่ทำให้เป็นบวกได้ มาจากการแก้ไขปัญหาเชิงรุกและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อังค์ถัดประเมินว่าจะโตเร็วสุดในรอบ 50 ปี โตมากในสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก หรือ PMI เกินระดับ 50 ต่อเนื่อง 14 เดือน แปลว่าพร้อมซื้อ และอย่างน้อยซื้อจากไทยด้วย และค่าเงินบาทอ่อนค่าในช่วงหลายเดือน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยสูงขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับเอกชนผลักดันการส่งออกต่อไป เพื่อทำรายได้เข้าประเทศได้ต่อไป. – สำนักข่าวไทย