กรุงเทพฯ 30 ก.ค.-ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ห้ามเสนอข่าวอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว กระทบต่อความมั่นคงรัฐ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากพบมีการกระทำผิด ให้ กสทช. ควบคุมระงับการให้บริการทางอินเทอร์เน็ต และส่งดำเนินคดี
โดยประกาศดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระรำชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล ข่าวสาร ทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อ ๒ ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ ๑ ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่า ด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ การประกอบกิจการวิทยุกระจำยเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทุกรายทราบ และ ให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่ สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต แก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที ให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อกรณี ประกาศให้ กสทช. ระงับไอพี ทันที ว่า “ยุคนี้คนโพสต์กัน ในโซเชียลมีเดีย เป็นหลัก ไอพี ก็คือของเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ไลน์ แล้วจะระงับอย่างไร ถ้าทางแพลตฟอร์มไม่ยินยอม เว้นแต่มีคำสั่งศาล หรือจะบล็อก ทั้งแอปฯ รัฐโยนเผือกร้อนให้ กสทช. และ ISPs แล้วละ ทางปฏิบติ ทำได้ไหมคะ”.-สำนักข่าวไทย