21 กรกฎาคม 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง/เรียบเรียง โดย : ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์/พีรพล อนุตรโสตถิ์
ตามที่มีการแชร์คลิปวิดีโอโดยระบุว่า การออกกำลังกายนอกบ้านสามารถแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ไกลถึง 10 เท่า และการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยานในสวนสาธารณะ สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ไกลถึง 10 เมตร พร้อมแนะนำว่าควรออกกำลังกายให้อยู่เหนือลมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และดีที่สุดในขณะนี้ ควรออกกำลังกายภายในบ้าน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วพบว่า จริงบางส่วน ยังไม่ควรแชร์
บทสรุป : จริงบางส่วน ยังไม่ควรแชร์
- คลิปวิดีโอหรือข้อความที่ระบุว่า การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ในสวนสาธารณะและที่โล่งแจ้ง สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ไกล 10 เมตร ไม่ใช่เรื่องจริง
- ข้อมูลที่แชร์เป็นการทดสอบในระบบจำลอง โดยปริมาณละอองฝอยที่ไปไกลได้ถึงขนาดนั้น ไม่ได้มีจำนวนมากพอ ที่จะทำให้สามารถติดเชื้อได้
- ออกกำลังกายเหนือลมเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ตลอด ฉะนั้นควรเว้นระยะห่างการออกกำลังกายในพื้นที่สาธารณะ โดยห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
- การออกกำลังกายภายในบ้านเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะออกกำลังกายในสวนสาธารณะต้องปฏิบัติตนตามวิถีใหม่อย่างเคร่งครัด
ข้อมูลที่ถูกแชร์
คลิปวิดีโอความยาว 1.17 นาที ถูกแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์แห่งหนึ่ง มีผู้กดถูกใจวิดีโอดังกล่าวจำนวน 267 คน และมีการแชร์คลิปวิดีโอดังกล่าวออกไปมากถึง 168 ครั้ง (ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564) โดยเนื้อหาในคลิประบุว่า การออกกำลังกายนอกบ้านทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ไกลกว่าเดิมมากถึง 10 เท่า และมีการอ้างผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของเบลเยี่ยมและดัตซ์ เกี่ยวกับเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยานแบบช้าๆ สามารถแพร่เชื้อได้ไกลกว่า 10 เมตร โดยคลิปวิดีโอดังกล่าว ได้ถูกส่งเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” เป็นจำนวนมาก
Fact Check : ตรวจสอบข้อมูล
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบข้อมูลกับ นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้คำตอบดังนี้
Q : การออกกำลังกายนอกบ้านสามารถแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ไกลกว่าเดิม 10 เท่า จริงหรือไม่?
A : ไม่จริง เพราะการแชร์ข้อมูลว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ไกลกว่าเดิมถึง 10 เท่านั้น เป็นการทดสอบในระบบจำลองว่าละอองฝอยสามารถแพร่กระจายได้ไกลสูงสุดเพียงใด แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น ความแรงของลม, ทิศทางลม และปริมาณของเชื้อไวรัสที่อยู่ ณ บริเวณนั้น อย่างไรก็ตามการไอหรือจามเชื้อจะอยู่ได้ในระยะ 1-2 เมตร แต่หากเชื้อจะแพร่กระจายไกลกว่าเดิม 10 เท่า มีความเป็นไปได้น้อยมาก น้อยจนไม่สามารถทำให้เกิดการก่อโรคได้ ถ้าบอกว่าเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ถึง 10 เมตร แล้วทำให้ก่อโรคได้นั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะการจะติดเชื้อไวรัสนั้น มีสิ่งที่ต้องพิจารณาสำคัญ 2 อย่าง คือ1.ปริมาณของเชื้อที่รับ ถ้าเชื้อมีปริมาณน้อย ก็ไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ 2. ระยะเวลาในการสัมผัสเชื้อ เช่น การอยู่ร้านกาแฟประมาณครึ่งชั่วโมง, การชมโรงภาพยนตร์ในเวลา 2 ชั่วโมง หรือการนั่งเครื่องบิน 6 ชั่วโมง ฉะนั้นความเสี่ยงจะเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาจากระยะเวลาในการสัมผัสเชื้อกับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ คลิปวิดีโอที่มีการแชร์มา เป็นการจำลองเหตุการณ์และระบุเพียงว่าเชื้อสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลเท่าไหร่ แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อ
Q : การเดิน วิ่ง ปั่นจักยาน สามารถแพร่เชื้อได้ไกลมากกว่าการยืนอยู่เฉยๆ จริงหรือไม่?
A : เหมือนกับที่ระบุไปในตอนต้น เรื่องนี้เป็นการทดสอบในระบบจำลอง ซึ่งการติดเชื้อสามารถปรับเปลี่ยนได้ ถ้าเราอยู่ใกล้ หรืออยู่หลังผู้ที่มีเชื้อโดยตรง ก็จะมีความเสี่ยง แต่หากมีการเว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตรก็จะปลอดภัย และถ้าสามารถเว้นระยะห่างได้มากกว่านั้น ก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
Q : การเว้นระยะห่าง 2 เมตรในการออกกำลังกายในที่สาธารณะจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่?
A : กรณีนี้จะพูดถึงสวนสาธารณะหรือที่โล่งแจ้งในหมู่บ้าน ยังเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถมาออกกำลังกายได้ เนื่องจากเป็นสถานที่เปิดโล่ง โดยผู้ให้บริการสถานที่และผู้ใช้บริการสถานที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ผู้ให้บริการสถานที่ : 1.ต้องมีการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ 2.ต้องออกแบบเพื่อลดความแออัดของสวนสาธารณะ 3. ต้องมีป้ายคำแนะนำในการปฏิบัติตนขณะใช้สถานที่ และ 4. ต้องดูแลความสะอาดโดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วมอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ใช้บริการสถานที่ : ต้องตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หากมีความเสี่ยงสูง ไม่ควรมาใช้บริการสวนสาธารณะ หากไม่พบอาการป่วยหรือไม่มีความเสี่ยงสูง สามารถใช้บริการสวนสาธารณะได้ แต่ต้องปฏิบัติตนตามวิถีใหม่ โดยสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างในการออกกำลังกาย และล้างมือบ่อยๆ ส่วนการออกกำลังกายโดยวิธีการวิ่ง ร่างกายจะต้องการปริมาณออกซิเจนจำนวนมาก สามารถถอดหน้ากากได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างให้ดี แต่หากเป็นการเดิน ก็ไม่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าในสถานการณ์เช่นนี้ สวนสาธารณะยังเป็นสถานที่ที่ใช้ในการออกกำลังกาย ไม่ควรนั่งจับกลุ่มพูดคุย หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ควรกลับบ้านทันทีหลังออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง ลดความแออัด และเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นได้ใช้บริการ โดยผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต้องรู้หน้าที่ของตนเองและปฏิบัติตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดก็จะสามารถลดความเสี่ยงได้มาก
“สวนสาธารณะและสถานที่เปิดโล่งของหมู่บ้าน ยังเป็นที่ที่ควรจะเปิดให้บริการตามมาตรการวิถีแบบ New Normal อย่างเคร่งครัด เพราะสถานที่ดังกล่าวมีประโยชน์ ทำให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย ได้รับอากาศบริสุทธิ์ และลดความตึงเครียดจากการกักตัวอยู่ในห้องเพียงอย่างเดียว” นพ.อุดม ระบุ
Q : ในคลิปวิดีโอยังระบุว่า เดิม การไอ จาม สามารถแพร่เชื้อได้ 2 เมตร แต่มีผลวิจัยออกมาว่า หากเดินออกกำลังกายสามารถแพร่เชื้อได้ไกล 4-5 เมตร?
A : อย่างที่ระบุไว้ตอนต้น ข้อมูลที่แชร์เป็นการทดสอบในระบบจำลอง แต่ละอองฝอยที่ไปไกลได้ถึงขนาดนั้น ไม่ได้มีจำนวนมากพอ ที่จะทำให้สามารถติดเชื้อได้ และเราสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการรักษาระยะห่าง
Q : คลิปวิดีโอยังระบุต่อไปว่า การวิ่ง หรือ ปั่นจักยานแบบช้าๆ สามารถแพร่เชื้อได้ไกล 10 เมตร รวมถึงหากปั่นจักรยานเร็วมากๆ สามารถแพร่เชื้อได้ไกล 20 เมตรจริงหรือไม่?
A : เรื่องนี้เป็นคำตอบในกลุ่มเดียวกันซึ่งเป็นการทดสอบในระบบจำลอง แต่เชื้อที่สามารถไปได้ไกลถึงขนาดนั้น ไม่ได้มีปริมาณมากพอ ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ รวมถึงการเดิน การปั่นจักรยาน การวิ่งเป็นการทดสอบในระบบจำลอง และไม่ได้นำปัจจัยอื่นๆ มาประมวลผล เช่น ทิศทางลม ความแรงของลม รวมถึงปริมาณของเชื้อที่แพร่กระจายไปไกลขนาดนั้น ไม่ได้มีปริมาณเพียงพอที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
Q : การออกกำลังกายในที่สาธารณะควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลเท่าใด?
A : การออกกำลังกายในที่สาธารณะยังมีความจำเป็น แต่ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
Q : ในคลิปวิดีโอยังมีการแนะนำว่า ควรออกกำลังกายอยู่เหนือลมเพื่อป้องกันการติดโรค?
A : หากสามารถออกกำลังกายอยู่เหนือลมได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่เวลาที่เราออกกำลังกายในสวนสาธารณะ เราไม่สามารถอยู่เหนือลมได้ตลอด เพราะฉะนั้นควรใช้หลักในการเลี่ยงความแออัด รักษาระยะห่าง หากเป็นเพียงการเดินเฉยๆ ไม่ได้เหนื่อยมาก ก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายที่เหนื่อยมาก เช่น การวิ่งก็สามารถถอดหน้ากากได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
Q : คลิปวิดีโอแนะนำว่า ดีที่สุดควรออกกำลังกายในบ้านก่อนช่วงนี้?
A : มีส่วนจริง เพราะปัจจุบันเราอาจมีข้อจำกัดในการใช้สวนสาธารณะ ถ้าเราปรับตัวและมีการออกกำลังกายในบ้านหรือในคอนโด ก็ยังมีคลิปวีดีโอแนะนำการออกกำลังกายที่ดีอยู่จำนวนมาก เช่น การแอโรบิกภายในบ้าน การเล่นโยคะภายในบ้าน หรือการฝึกซ้อมคีตะมวยไทยภายในบ้าน ทั้งนี้การออกกำลังกายในบ้านก็เป็นสิ่งที่ดี แต่บางคนก็ยังชอบที่จะออกกำลังกายภายนอกหรือ Out door ซึ่งไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่ต้องปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามมาตรการที่ได้กล่าวไป
Q : สรุปแล้วคลิปที่มีการแชร์กันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สามารถแชร์ต่อได้หรือไม่?
A : เรื่องนี้จริงบางส่วน แต่ยังไม่ควรแชร์ เพราะเป็นการทดสอบในระบบจำลอง และในคลิปวิดีโอไม่ได้ระบุว่าละอองฝอยที่แพร่กระจายไปได้ไกล ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้ติดเชื้อได้ การแชร์คลิปวีดีโอดังกล่าวจะทำให้เกิดการกลัวการออกกำลังกาย ซึ่งในความจริงแล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) และกรมอนามัย ยังแนะนำให้ออกกำลังกาย เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ผู้ออกกำลังกายมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรค NCDs และเสริมภูมิต้านทาน ในเรื่องนี้มีความจริงบางส่วน แต่ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องแชร์ อย่างไรก็ตามเราสามารถปรับตัวและออกกำลังกายภายในบ้านได้ แต่หากเป็นสวนสาธารณะหรือที่โล่งแจ้งภายในหมู่บ้านที่ไม่ได้มีความแออัด ก็สามารถไปใช้บริการได้ ตามมาตรการความปลอดภัยที่ถูกต้อง
ข้อมูลอ้างอิง
- การสัมภาษณ์ นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564
- คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ https://www.facebook.com/WhiteNewstv/posts/2977884558960339
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter