กทม. 9 มี.ค. – หลังใช้มาตรา 44 มาตรการทางปกครองของสงฆ์ไม่ได้ผล ทำให้เรื่องของพระธัมมชโยต้องเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งหน่วยงานทางโลกได้ยื่นเรื่องขอให้กรรมการมหาเถรสมาคมพิจารณาความผิดทางพระธรรมวินัย ขั้นตอนต่างๆ ที่จะดำเนินกับพระธัมมชโย จะเป็นอย่างไร
หลังจากดีเอสไอประกาศเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) ว่าจะจบมหากาพย์วัดพระธรรมกายที่ยืดเยื้อมานาน ภายใน 5 วัน ถือเป็นสัญญาณนับถอยหลังที่ทุกฝ่ายจับตามมอง นอกเหนือจากคดีความที่คืบหน้า ขณะนี้มีสัญญาณชัดเจนในการนำพระธรรมวินัยมาดำเนินการที่น่าจะมีคำตอบจากที่ประชุมมหาเถรสมาคมช่วงบ่ายพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) โดยวันนี้ดีเอสไอเริ่มปฏิบัติการเชิงรุก เข้ายื่นเอกสารที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพระธัมมไชโย ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ให้มหาเถรสมาคม พิจารณาว่าจะผิดตามพระธรรมวินัยหรือไม่
สอดคล้องกับความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ที่ยืนยันต้องจัดการด้วย 3 มาตรการเข้มข้น คือ มาตรการทางกฎหมาย ใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่ต่อไป ยังไม่ยกเลิก แนวทางที่ 2 ใช้มาตรการทางปกครอง ด้วยการการถอดสมณศักดิ์
และแนวทางที่ 3 จะใช้พระธรรมวินัยแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลไม่อาจก้าวล่วง เพราะเป็นอำนาจของมหาเถรสมามคม โดยใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม หรือการสละสมณเพศ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเรื่องพระธัมมชโย ให้มหาเถรสมาคม (มส.) ทราบ ก่อนมอบให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางตั้งคณะกรรมการ ทำหน้าที่เป็นศาลสงฆ์ ตัดสินได้ทันที หรือคณะกรรมการนำผลส่งต่อให้มหาเถรสมาคมวินิจฉัย วินิจฉัย ทั้งสองแนวทางมีอำนาจวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยสมควรพ้นจากความเป็นพระได้โดยไม่จำเป็นต้องนำตัวมา และคำวินิจฉัยถือเป็นที่สุด
การสึกกลางอากาศครั้งประวัติศาสตร์เคยเกิดเมื่อ 23 ปีก่อน กรณีอดีตพระยันตระ ซึ่งผิดวินัยร้ายแรงด้วยการล่วงละเมิดเมถุนธรรม ส่วนพระธัมมชโยที่ถูกข้อหาฟอกเงินและรับของโจร ถือว่าผิดพระธรรมวินัยรายแรงเช่นกัน แต่คดีทางโลก หากพระธัมมชโยมอบตัวกับดีเอสไอ อาจไม่ได้ประกันตัว และต้องสึกจากความเป็นพระ ส่วนทางพระธรรมวินัยต้องติดตามว่าจะเกิดประวัติศาสต์ “สึกกลางอากาศ” เป็นครั้งที่สองหรือไม่. – สำนักข่าวไทย