สธ.28 มิ.ย.-อธิบดีกรมวิทย์ ชี้โควิดสายพันธุ์เดลตา ส่อแววแทนอัลฟาแล้ว พบป่วยรวมคิดเป็นร้อยละ 16.59 จากสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ แค่ร้อยละ 12 คาดว่าไม่เกิน 2-3 เดือน ย้ำเดลตาแพร่เร็ว ต้องสวมหน้ากากเคร่งครัด ส่วนเบตารับมีป่วยในกทม.แล้ว 1 คน ติดเชื้อจากลูกชายเดินทางมาจากนราธิวาส แต่ไม่น่าห่วง เพราะอัตราแพร่เชื้อต่ำ แต่หลบวัคซีน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าจากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสโควิด -19 จากการเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. พบว่าสัดส่วนของไวรัสโควิด-19 ในสายพันธุ์ที่พบในไทยกำลังจะเปลี่ยนไป โดยพบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กำลังเข้ามาเพิ่มสัดส่วนในไทยมากขึ้นขณะนี้ พบร้อยละ16.59 จากเดิมร้อยละ12 (ในสัปดาห์ก่อน 21มิ.ย.) และคาดว่าไม่เกิน 2-3เดือนจะเข้ามาแทนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ตอนนี้พบอยู่ที่ร้อยละ 80.19
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย )ได้เริ่มกระจายตามต่างจังหวัด ล่าสุดพบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เกือบทุกจังหวัด เช่น อุดรธานี 23 คน สกลนคร 22 คน เลย 20 คน บึงกาฬ 4 หนองบัวลำภู 12 คน นครสวรรค์ 11 คน เป็นต้น และพบว่าการติดเชื้อสัมพันธ์เชื่อมโยงแรงงานจากกรุงเทพฯ ที่เดินทางกลับบ้าน นอกจากนี้ยังพบการระบาดในภาคใต้เป็นครั้งแรก โดยพบที่นราธิวาส 2 คน โดยพบว่าเป็นการติดเชื้อข้ามแดนมาจากรัฐเกดะห์ มาเลเซีย
ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบร้อยละ 3.22 ยังพบอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ และล่าสุดพบการเชื้อใน กทม.1 คน เป็นพ่อ มีอาชีพรับจ้างในตลาด ติดเชื้อจากลูกชายที่เดินทางมาเยี่ยมจากนราธิวาส ระหว่างที่อยู่ กทม.ไม่พบอาการ แต่กลับถึงบ้านมีอาการป่วย และรับการรักษาแล้ว
ทั้งนี้ สายพันธุ์เบตา อัตราการแพร่เชื้อต่ำ แต่พบว่าหลบหลีกวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็นและสำคัญ ขอให้ใครมีนัดหมายรับวัคซีนให้ไปรับก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการไม่ได้ห้ามการเดินทางภายในประเทศ จึงมีโอกาสรับเชื้อได้ ดังนั้นต้องระวังและสวมหน้าใส่หน้ากากอนามัยเสมอ ไม่จำกัดชนิด หรือต้อง 2 ชั้น แต่ต้องใส่เสมอเพื่อป้องกัน
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการสำรวจผลการศึกษาการรับวัคซีนซิโนแวค เบื้องต้นพบว่า มีผลต่อสายพันธุ์อัลฟาได้ดี อยู่ในระดับร้อยละ 80-90 ในแต่ละพื้นที่ ทั้งภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย ขณะนี้กำลังรอสำรวจในสายพันธุ์เดลตา และเบตาอยู่ เนื่องจากเพิ่งเริ่มรับวัคซีนไปไม่นาน แต่ที่แน่ชัดพบว่าการศึกษาใน รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ที่รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม พบว่าแม้จะมีการติดเชื้อ แต่ก็ไม่มีการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรง เพราะวัคซีนช่วยลดความรุนแรง ไม่ต้องสวมเครื่องช่วยหายใจ และทำให้อาการป่วยไม่รุนแรง ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของคนป่วยใน รพ. เพราะไม่ได้รับวัคซีน ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือไม่ ยังรอผลการศึกษาวิจัยอยู่ .-สำนักข่าวไทย