สปสช. 9 มิ.ย.- “อนุทิน” แสดงความเสียใจต่อครอบครัวหญิงชาว กทม. วัย 46 ปี ที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้าน สปสช.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดต่อประสานช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น เผยตอนนี้จ่ายเงินเยียวยาไปแล้วทั่วประเทศ 262 ราย เป็นกรณีเสียชีวิต 5 ราย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวหญิงชาว กทม. วัย 46 ปี เสียชีวิตหลังจากรับวัคซีนแอสตราเซนิกา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และได้สั่งการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นให้เร็วที่สุดแล้ว ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้น ขอเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญทำการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นเพราะอะไร ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวหรือไม่ และมีความเกี่ยวข้องกับอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้วัคซีนอย่างไรบ้าง
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ทันทีที่ทราบข่าวการเสียชีวิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน สปสช. เขต 13 ลงไปในพื้นที่ เพื่อติดตามประสานงานในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.แล้ว เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายหลังจากฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นอาการเล็กน้อยไปจนกระทั่งกรณีเสียชีวิต สปสช.จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ก่อน ซึ่งคำว่าเบื้องต้นนี้ ไม่ได้หมายถึงการพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน โดยเมื่อใดที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลกระทบก็จะพิจารณาจ่ายให้โดยเร็วที่สุด แม้ว่าต่อมาในภายหลังจะมีการพิสูจน์ว่าสาเหตุของผลกระทบไม่ได้เกิดจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
“ในกรณีของผู้เสียชีวิตรายนี้ ปกติใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีน สปสช. ซึ่งดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง จะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ประชาชนทุกสิทธิ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม ไม่จำกัดว่าจะดูแลแต่สิทธิบัตรทองเพียงอย่างเดียว” นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีน สามารถยื่นเรื่องได้ 3 จุด คือ ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สปสช.เขตต่างๆ 13 เขตทั่วประเทศ โดยแต่ละเขตจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ทำการพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ซึ่ง ณ วันที่ 7 มิ.ย.64 มีผู้ยื่นเรื่องเข้ามาแล้ว 386 ราย จ่ายเยียวยาแล้ว 262 ราย โดยกรณีเสียชีวิตจ่ายเยียวยาไปแล้ว 5 ราย ยังไม่รวมกรณีของหญิงวัย 46 ปี ที่เพิ่งเสียชีวิต.-สำนักข่าวไทย