13 ม.ค. – หลายหน่วยงานเตรียมรับมือฝุ่นพิษ PM 2.5 ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ ระดม 38 หน่วยงาน ร่วมทำแผนปฏิบัติการ ระยะ 5 ปี คุมค่าฝุ่นให้ไม่เกินมาตรฐาน 50 วันต่อปี ลดสถิติผู้ป่วย ลดจุดความร้อนจากการเผาไม่เกิน 4,000 จุด ภาคเหนือปลอดภัยไร้ฝุ่นภายใน 2 ปี
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สก.สว. พร้อมภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดแผนแก้ปัญหา PM 2.5 ระยะ 5 ปี ของเชียงใหม่ ด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และกลไกภาคี ที่เชียงใหม่
โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมหารือและกำหนดมาตรการหยุดเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 พร้อมนำงานวิจัย นวัตกรรม มาช่วยให้ความรู้ในการกำจัดซากวัสดุทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย
ขณะที่นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) บอกว่า ได้จัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในปีงบประมาณ 2568 450 ล้านบาท จากเชียงใหม่ขยายพื้นที่ครอบคลุม 8จังหวัดภาคเหนือตอนบน และคาดว่าจะจัดสรรงบฯเพิ่มเติมอีกในปีต่อไปอีก 450 ล้านบาท รวม 2 ปี 900 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 เบื้องตัน ได้วางแผนปฏิบัติการ 3 ขั้น คือจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ต้องไม่เกิน 50 วันต่อปี และต้องลดจำนวนสถิติผู้ป่วย COPD ที่แอดมิทครั้งแรก จากสาเหตุฝุ่นไม่ให้เกิน 1,000 คนต่อปี และต้องลดจำนวนจุดความร้อนจากการเผาหรือ Hotspot ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่เกิน 4,000 จุดต่อปี
ส่วน ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.สกสว. ยืนยัน การแก้ปัญหาวิกฤติ ฝุ่นพิษ ต้องนำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนงานวิจัยมาช่วย โดยภายในเดือนมกราคมนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สดร. หรือ NARIT เตรียมติดตั้งอุปกรณ์ ACSM หรือเครื่องตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีของ PM 2.5 เพื่อค้นหาแหล่งกำเนิด มาวิเคราะห์หาสาเหตุต้นตอของการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้ตรงจุด
โดยจะติดตั้งใน 3 พื้นที่ ทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และสงขลา ภายในปีนี้ มั่นใจหากมีความร่วมมืออย่างจริงจัง จะทำให้ปัญหา PM 2.5 เห็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้น และปัญหาจะลดลงในอีก 2 ปีข้างหน้า .-สำนักข่าวไทย