กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แจงออกประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพื่อให้มีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม ยืนยันสมาชิกยังได้ประโยชน์เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหกรณ์สูงกว่าธนาคาร
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์เรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ ซึ่งให้มีการทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และเพื่อให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากในปัจจุบันของธนาคารพาณิชย์ อันจะทำให้สหกรณ์มีต้นทุนทางการเงินและจำนวนเงินรับฝากที่เหมาะสม
ทั้งนี้อาศัยอาศัยอำนาจตามมาตรา 46 (5) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 นายทะเบียนสหกรณ์จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ในคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากสำหรับการรับฝากเงินทุกประเภทได้ไม่เกินร้อยละ 4.00 ต่อปี โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์เดิมซึ่งแยกเป็น 2 ฉบับคือฉบับประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสหกรณ์ในการรับฝากเงินได้ไม่เกินร้อยละ 7 ต่อปีและฉบับที่ 2 ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนได้ไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี
นายวิศิษฐ์กล่าวต่อว่า การออกประกาศดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยพิจารณาแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 4 ต่อปีจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ที่จะทำให้ต้นทุนทางการเงินไม่สูงเกินไป อีกทั้งยังสามารถจูงใจให้ประชาชนทั่วไปมาฝากเงินกับสหกรณ์แบบสมาชิกสมทบได้เช่นเดิมเพราะดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีอัตราประมาณร้อยละ 0.50 บาทต่อปี โดยสมาชิกของสหกรณ์ยังได้รับประโยชน์อยู่
ส่วนกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจ บริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน จำกัด จูงใจให้ประชาชนมาฝาก โดยให้ดอกเบี้ยสูงกว่าที่นายทะเบียนสหกรณ์ออกประกาศไว้ แล้วดำเนินธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ ซึ่งต่อมาประชาชนไม่สามารถถอนเงินได้ เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะฉ้อโกง ได้ประกาศเลิกสหกรณ์ดังกล่าวแล้ว เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายในวงกว้างต่อไป จึงขอให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจฯ เพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 . – สำนักข่าวไทย