ยธ. 19 มี.ค.-“สมศักดิ์” เตรียมคอนเฟอเรนซ์เรือนจำทั่วประเทศ พรุ่งนี้ (20 มี.ค.) ซักซ้อมเฝ้าระวัง สั่งปลัด ยธ.แก้กฎหมายเปิดทาง โชว์ภาพถ่ายจากในเรือนจำให้สังคมเห็นว่าดูแลนักโทษปลอดภัย ยืนยันแกนนำราษฎรแข็งแรงดี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแกนนำราษฎร เขียนจดหมายอ้างถูกเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวออกจากห้องควบคุมกลางดึก กลัวจะถูกทำร้ายเอาชีวิตในเรือนจำ ว่า ทุกครั้งที่มีการควบคุมตัวในเรือนจำก็จะปรากฏข่าวแกนนำถูกทำร้าย ซึ่งเป็นเทคนิคการสื่อสารของแต่ละฝ่าย หากเป็นการใส่ร้ายให้ราชการต้องเสื่อมเสีย เราก็ต้องรักษาสิทธิในการกล่าวโทษ ร้องทุกข์ และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งนี้ ในส่วนของเรือนจำก็อยากพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า กลุ่มแกนนำมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย แม้บางคนจะอดข้าว แต่ก็ไม่อดน้ำ อดนม น้ำหนักลงไปเล็กน้อยก็เป็นเรื่องปกติ แต่ระเบียบราชทัณฑ์ไม่อำนวยความสะดวกในการเผยแพร่ภาพถ่ายผู้ต้องขังในเรือนจำสู่สาธารณะ ดังนั้น จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีราชทัณฑ์ ไปพิจารณาศึกษาแก้ระเบียบดังกล่าว เพื่อเผยแพร่รูปภาพแกนนำจากภายในให้สังคมได้รับทราบได้หรือไม่
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวชี้แจงเรื่องการตรวจโควิด-19 ในเรือนจำว่า ปกติไม่ได้มีการตรวจโควิด-19 ประจำทุกวัน เพราะมีอุปกรณ์ในการตรวจเพียง 16,000 ชุด แต่หากมีเหตุการณ์สำคัญ หรือจำเป็นก็ต้องตรวจ เช่น วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ต้องขัง 3 ราย ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำพื้นที่เสี่ยงใกล้กับเขตบางแค โดยบังเอิญมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังที่เป็นแกนนำกลุ่มราษฎร 4 ราย และผู้ต้องขังทั่วไปที่มาจากศาลอาญา 9 ราย ซึ่งผู้ต้องขัง 9 ราย ยอมให้ตรวจ ขณะที่แกนนำ 7 ราย ไม่ยอมแยกออกจากกัน อีกทั้งไม่ให้ตรวจเชื้อ จึงจำเป็นต้องย้ายออกจากผู้ต้องขังที่ตรวจเชื้อแล้ว
โดยในขณะนี้ผู้ต้องขัง 7 ราย ก็ยังไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจโควิด-19 แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากเป็นความมั่นคงภายในเรือนจำก็ต้องปฏิบัติ โดยผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ ซึ่งการเตรียมเครื่องมือในการตรวจ ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจโควิดทุกวัน อีกทั้งหมอที่ทำการตรวจและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในเรือนจำก็เป็นข้าราชการทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) ตนจะเรียกประชุม ผบ.เรือนจำทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กำชับให้ระมัดระวังการทำงาน โดยเฉพาะการดูแลผู้ต้องขัง 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เชิญตน พร้อมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เข้ามาให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ยินดีให้ข้อมูล แต่เมื่อศึกษารัฐธรรมนูญ มาตรา 129 แล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีคดีอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่มั่นใจว่า กมธ.จะเรียกสอบสวนได้มากน้อยแค่ไหน.-สำนักข่าวไทย