สำนักข่าวไทย 7 ธ.ค. 63 – เจ้าน้อนตาจุด หน้าอุโบสถ วัดชัยภูมิการาม หรือ วัดกลาง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ผู้โด่งดังบนโลกออนไลน์ แท้จริงแล้วไม่ใช่พญานาค! แต่น้อนคือ “เหรา” (เห-รา) สัตว์ป่าหิมพานต์ สุดน่ารัก ไปทำความรู้จักกับน้องกันค่ะ
“เหรา” ที่กำลังโด่งดังอยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดอุโบสถ หรือ สิม วัดชัยภูมิการาม หรือวัดกลาง วัดเก่าแก่ ของ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ลักษณะแปลกตา มี 5 หงอน ไม่มีเกล็ด เท้าด้านหลังเหยียบปลา สร้างโดยช่างฝีมือสมัยโบราณ ลักษณะเรียบง่าย ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เหลือเพียงความงามอันบริสุทธิ์ ไม่มีเกล็ดหรือเปลวกนกเหมือนกับช่างหลวง ที่สร้างด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นความงามอีกรูปแบบที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน อาจเรียกได้อีกอย่างว่าศิลปะแบบ นาอีฟ (Naïve) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส หมายถึง เป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา
เหรา, มกร คืออะไร?
ประเทศบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ไทย ลาว เขมร และพม่า มีความเชื่อเกี่ยวกับการบูชา “งู” และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพ คือ มีพิษร้ายแรง จึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ โดยเฉพาะงูใหญ่อย่าง “พญานาค” ซึ่งอาจจะมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ อ่าน “นาคา” เจ้าพญาแห่งสายน้ำโขง อย่างเช่นในดินแดนล้านนานั้น มีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์
ลักษณะลำตัวยาวเหยียดคล้ายพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวนั้นเป็นปากจระเข้ มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อาทิ พระธาตุ โบสถ์ และวิหาร ที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุไม่ให้คนขึ้นไปรบกวน คนโบราณจึงมักนำมกรไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด
คำว่า “มกร” นั้น สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากมังกรของจีน เนื่องจากเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาคหรือสำรอกพญานาคและมีขาด้วยจึงเรียกตามมังกรของจีน
ศิลปกรรมมกรคายนาค, มกร หรือ เหรา นั้นมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับเจ้าน้อนตาจุดที่วัดชัยภูมิการาม หรือ วัดกลาง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ที่สร้างโดยช่างฝีมือสมัยโบราณ ที่เต็มไปด้วยศรัทธาต่อพุทธศาสนานั่นเองค่ะ.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
- โชติกา นุ่นชู. มกรคายนาค พุทธศิลป์แห่งดินแดนล้านนาไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2563, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_35141