สำนักข่าวไทย 1 ต.ค. – วันที่ 2 ตุลาคม 2563 เป็น “วันออกพรรษา” วันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก กลับจากการโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันนี้ยังมีปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเชื่อว่าเป็นความซาบซึ้งของเหล่า “นาคา” หรือ “นาค” ที่มีต่อพระพุทธเจ้า อีกด้วย สำนักข่าวไทยขอพาทุกท่านไปรู้จักกับความเป็นมาของ “นาค” เจ้าพญาแห่งสายน้ำโขง
กำเนิด นาคา
นาค หรือ พญานาค มีลักษณะคือ เป็นงูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล นาคเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ บางแห่งก็ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า ตำนานพญานาคมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขา จึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพ คือ มีพิษร้ายแรง จึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์นับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้นับถืองูเป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่งในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน ความเชื่อเรื่องพญานาคแพร่หลายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยเรียกชื่อต่างๆ กัน
อินเดียมีนิยายหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นปรปักษ์ของพญาครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่า พญานาค อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษา โดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้ เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
นาค กับตำนานแม่น้ำโขง
ตามตำนานเล่าว่า ก่อนที่ยังไม่มีแม่น้ำโขงเกิดขึ้น มีพญานาคสองตนเป็นเพื่อนรักกัน คือ พญาศรีสุทโธนาคราช กับ สุวรรณนาคราช ทั้งสองครอบครองหนองน้ำใหญ่ที่เรียกว่า “หนองกระแส” ร่วมกัน โดยหนองกระแสอยู่ทางตอนเหนือของลาว และอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองพญานาค
พญานาคทั้งสองตนต่างมีบริวารจำนวนมาก แบ่งหนองกระแสปกครองกันฝ่ายละครึ่ง ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันทุกอย่าง โดยตกลงกันไว้ว่าหากฝ่ายใดล่าสัตว์มาได้ ก็จะแบ่งครึ่งกันอย่างยุติธรรม คราวหนึ่งพญาศรีสุทโธนาคราชล่าช้างมาได้ ก็แบ่งเนื้อพร้อมทั้งหนังช้างที่มีขนติดอยู่ แล้วให้บริวารนำส่วนแบ่งมาให้สุวรรณนาคราช ถึงคราวสุวรรณนาคราชออกล่าอาหาร ได้เม่นขนแข็ง ก็แบ่งเนื้อเม่นและมีขนเม่นติดไปด้วย ให้บริวารนำไปให้พญาศรีสุทโธนาคราชเช่นกัน เมื่อพญาศรีสุทโธนาคราชเห็นเนื้อเม่นที่ถูกแบ่งมาให้มีจำนวนเล็กน้อย เนื่องจากขนที่ติดมาใหญ่กว่าขนช้างมาก ตัวสัตว์ที่ล่าน่าจะมีขนาดใหญ่ เนื้อที่แบ่งมาน่าจะมากกว่านี้ จึงคิดว่าเพื่อนเล่นไม่ซื่อกับตน
ฝ่ายสุวรรณนาคราชเมื่อทราบเรื่อง จึงรีบเดินทางไปพบศรีสุทโธนาคราช เพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเม่นถึงแม้ขนมันจะใหญ่โต แต่ตัวเล็กนิดเดียว ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้เป็นอาหาร แต่ศรีสุทโธนาคราชก็ไม่เชื่อ ผลสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงประกาศสงครามกัน ทั้งสองรบกันอยู่ถึง 7 ปี ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บริเวณหนองกระแสเกิดความเสียหาย เดือดร้อนไปตามๆ กัน รวมถึงเทวดาน้อยใหญ่ทั้งหลาย
ความทราบไปถึงพระอินทร์ จึงลงมาเมืองมนุษย์ ให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะให้ “ปลาบึก” เกิดขึ้นในแม่น้ำแห่งนั้น และให้ถือว่าการทำสงครามครั้งนี้เสมอกัน ศรีสุทโธนาคราชจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออก เพราะศรีสุทโธนาคราชเป็นคนใจร้อน เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขา แม่น้ำที่สร้างก็คดโค้งไปตามภูเขา หรือตามความยากง่ายในการสร้าง แม่น้ำนี้จึงเรียกชื่อว่า “แม่น้ำโขง” คำว่า “โขง” สันนิษฐานว่ามาจาคำว่า “โค้ง” นั่นเอง ส่วนทางฝั่งลาวเป็นแม่น้ำของสุวรรณนาค ที่เป็นคนพิถีพิถันและใจเย็น การสร้างแม่น้ำจึงต้องทำให้ตรง แม่น้ำนี้เรียกชื่อว่า “แม่น้ำน่าน” เป็นแม่น้ำที่มีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย
บั้งไฟพญานาค แสงแห่งศรัทธา
เรื่องราวของบั้งไฟพญานาค เป็นความเชื่อความศรัทธาของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ที่เห็นลูกไฟสีแดงอมชมพู ไม่มีเสียง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงช่วงเวลาออกพรรษาทุกปี และเข้าใจว่าคือบั้งไฟพญานาค ซึ่งมีเรื่องเล่าติดต่อกันมาว่า
หลังพระพุทธองค์ตรัสรู้ ได้ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ จนถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ โดยทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า พระองค์ทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดา ที่หลังประสูติพระองค์ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นนางสวรรค์อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อถึงพรรษาที่ 7 พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเทศนาโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ ด้วยความซาบซึ้งที่มีต่อพระองค์ พญานาคจึงคายไฟในปาก ทำให้ปรากฏดวงไฟสวยงามทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อสรรเสริญพระพุทธคุณยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า
จะเห็นได้ว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงนั้นมีความเชื่อเรื่องพญานาคร่วมกัน ทั้งด้านธรรมชาติ ความมั่นคง มั่งคั่ง และด้านพุทธศาสนาอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย