สำนักข่าวไทย 6 ส.ค.- ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน หลายคนอาจจะกำลังสับสนว่าตกลงตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วหรือยัง เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกัน
เงินฝืด คืออะไร ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลงเพราะว่าถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้น้อย ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจเพราะการจ้างงานจะลดลงตามไปด้วย
แล้วตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับไหนกันนะ?
1.ราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
ตอบ ไม่เข้าข่าย เพราะประมาณการล่าสุดชี้ว่า ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 63 ที่ -1.7% มาอยู่ที่ 0.9% ในปี 64
2.ราคาสินค้าและบริการปรับลดลง กระจายไปเกือบทุกประเภทสินค้า
ตอบ ไม่เข้าข่าย เพราะข้อมูลล่าสุดชี้ว่า 70% ของสินค้าและบริการ มีราคาคงที่หรือเพิ่มขึ้นมีบางประเภทเท่านั้นที่ราคาลดลง
3.เงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคตลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
ตอบ ไม่เข้าข่าย เพราะเงินเฟ้อคาดการณ์(5 ปีข้างหน้า) อยู่ที่ 1.8% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
4.เศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอลงยาวนาน
ตอบ ต้องติดตาม เศรษฐกิจไทยหดตัวและผู้ว่างงานเพิ่งสูงขึ้นเนื่องจากโควิด-19 แต่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งต้องติดตามความเสี่ยงในระยะต่อไป
สรุปว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด