กรุงเทพฯ 28 พ.ย. –พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยอมรับประมูล”บงกช-อาราวัณ”เสร็จปี 61 เตรียมแผนรองรับทั้งเร่งนำเข้าแอลเอ็นจี-แอลพีจี โดยจะนำเสนอ กพช.ขอนำเข้าสัญญาระยะยาวเพิ่มนำเข้าจาก ปิโตรนาส 1.2 ล้านตัน/ปี
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ได้สั่งการ กฟผ. สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างแท้จริงว่ามีความต้องการหรือไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยขอให้เป็นความคิดเห็นเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดกระบี่เท่านั้น และขอให้สรุปอย่างรวดเร็วที่สุด แม้ว่าขณะนี้ทางจังหวัดกระบี่จะนำส่งรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนกว่า 15,000 รายชื่อแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ทางกระทรวงต้องการความคิดเห็นเพิ่ม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่ นายกรัฐมนตรีชะลอโครงการเพราะต้องการเห็นความชัดเจนจากประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหากมีโรงไฟ้ฟ้าถ่านหินกระบี่เกิดขึ้นจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปให้ภาคใต้ ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นในภาคใต้ร้อยละ 5-6 ต่อปี ซึ่งการส่งไฟฟ้าระยะไกลจะมีความเสี่ยงเรื่องไฟฟ้าสูญเสีย มีความเสี่ยงไฟตกไฟดับ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดขึ้นก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทดแทน ขณะที่ก๊าซฯ ในประเทศมีปริมาณลดลงต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ต้นทุนสูงกว่า
“ให้ กฟผ.สำรวจความต้องการคนในพื้นที่ว่าต้องการอะไรกันแน่ เพราะการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่สร้างงาน สร้างรายได้ และยังมีเงินกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าอีกประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี ตลอดเวลา 30 ปีมีเงินรวมถึง 3,600 ล้านบาท และที่สำคัญเทคโนโลยีถ่านหินที่จะนำมาใช้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ซึ่งสะอาดมาก ๆ มีผลกระทบน้อยที่สุด” รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการประมูลพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณที่ล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีปิโตรเลียมมีการท้วงติงมานั้น ยอมรับว่าการเปิดประมูลไม่สามารถเปิดได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2560 แต่จะพยายามเปิดประมูลให้ได้ภายในปี 2560 และทุกอย่างจะประมูลเสร็จสิ้นได้รายชื่อผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการภายในปี 2561 แม้ล่าช้ากว่าแผน แต่ต้องยอมรับ โดยทางกระทรวงได้มีการหารือกับภาคเอกชนในการดูแลการผลิต โดยยอมรับว่าหากเป็นรายเดิมการคงกำลังการผลิตให้ลดน้อยลงที่สุดจะมีผลกระทบน้อยกว่าการได้รายใหม่ แต่หากได้รายใหม่กระทรวงจะดูแลในการดำเนินการเกิดผลกระทบต่อการผลิตน้อยที่สุด
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 2 ธันวาคมนี้ นอกจากจะมีการหารือเรื่องการประกาศราคาแอลพีจี ประจำเดือนธันวาคมแล้ว ยังจะมีการหารือเรื่องแนวโน้มการเปิดเสรีการนำเข้าแอลพีจี และสัญญาการซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวของ บมจ.ปตท.และปิโตรนาสแห่งมาเลเซีย โดยภาพรวมจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมล่าช้า ซึ่งยอมรับว่าจะกระทบทั้งการนำเข้าแอลเอ็นจีและการผลิตแอลพีจีในประเทศที่ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.ปตท.ได้มีการเจรจาจะนำเข้าแอลเอ็นจีจากปิโตรนาส 1.2 ล้านตันต่อปี นับเป็นบริษัทที่ 4 ที่ ปตท.จะมีการนำเข้าสัญญาระยะยาวต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลเห็นชอบให้นำเข้าจากกาตาร์ 2 ล้านตัน เชลล์และบีพีรายละ 1 ล้านตัน โดยการนำเข้าจากปิโตรนาสนี้เดิมที่ ปตท.เสนอนำเข้า 2 ล้านตันต่อปี เบื้องต้นกระทรวงเห็นว่า 1.2 ล้านตันเป็นสัญญาระยะยาวที่เหมาะสม ที่เหลือจะมีการเจรจาลักษณะสัญญาตลาดจร(SPOT)จากปริมาณความสามารถการนำเข้าแอลเอ็นจีสถานีรับจ่ายก๊าซแหล่งที่ 1 รวม 11.5 ล้านตันต่อปี โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 8 ธ.ค.นี้
ส่วนการนำเข้าแอลพีจีเสรีขณะนี้จะดำเนินการรองรับกรณีการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณล่าช้าอย่างต่ำจะทำให้แอลพีจีหายไปจากระบบร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันความต้องการใช้แอลพีจีของประเทศประมาณร้อยละ 50 หรือ 320,000 ตันต่อเดือนจะมาจากโรงแยกก๊าซอีกประมาณ 150,000 ตัน จะมาจากโรงกลั่นน้ำมัน ที่เหลือประมาณ 30,000-40,000 ตันต่อเดือนมาจากนำเข้าแอลพีจี โดยตามแผนคาดว่าการผลิตจากโรงแยกก๊าซจะลดลงอย่างหนักตั้งแต่ปี 2563 ก๊าซแอลพีจีจะหายไปอย่างต่ำ 60,000 ตันต่อเดือน ดังนั้น คาดว่าไทยจะนำเข้าแอลพีจีช่วงดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 90,000 ตันต่อเดือน โดยการเปิดเสรีขณะนี้วางแผนไว้หลายรูปแบบ เ ช่น การให้เอกชนนำเข้าอย่างเสรีสามารถเลือกใช้คลังนำเข้า ณ จุดใดก็ได้ หรือกำหนดโควตานำเข้า และรวมถึงการเปิดเสรีราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันจากเดิมเป็นสูตรราคาตะวันออกกลางลดลง 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (cp-20 ดอลลาร์) อาจเป็นราคาเสรี ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้โรงกลั่นฯ ผลิตแอลพีจีเข้ามาในระบบมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย