ไห่หนาน 4 พ.ย. – แนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟฟ้างวดใหม่ทรงตัว ในขณะที่ กฟผ.ศึกษาโรงไฟฟ้ารูปแบบใหม่SMR ช่วยต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตต่ำลง-ระบบมั่นคงและร่วมเทรนด์ลดโลกร้อน
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยผันแปรตามต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าเงินบาท รวมถึงปริมาณการใช้ไฟซึ่งคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณาค่าไฟ อย่างไรก็ตาม จากที่ กฟผ.ร่วมบริหารต้นทุนค่าไฟโดยติดตามค่าเชื้อเพลิงโดยเฉพาะในส่วนของก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) พบว่าต้นทุนงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย.68) พบว่าราคาแอลเอ็นจีตลาดจรงวดใหม่ใกล้เคียงกับงวดปัจจุบันที่ประมาณ 13-14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบียู ในขณะที่หนี้คงค้างอุดหนุนค่าไฟฟ้าในส่วนที่ กฟผ.รับภาระค่าไฟฟ้าเอฟทีล่าสุดระบบค่าไฟชำระต่อเนื่องทำให้หนี้ลดลงจาก 1.5 แสนล้านบาท เหลือกว่า 8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้หนี้ที่ กฟผ.กู้มาดำเนินการส่วนนี้ลดลงจาก 1.1 แสนล้านบาท เหลือกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยนั้นผันแปรตามราคาก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดโลกโดยที่ผ่านมาช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย ต้นทุนพุ่งไปถึง 80 เหรียญ/ล้านบีทียู ในขณะที่ไทยร่วมลดโลกร้อนตามเทรนด์โลกลดเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งหากใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ปัญหาคือไฟฟ้าไม่สามารถผลิตใช้ได้ 24 ชั่วโมง ต้นทุนจะสูงหากใช้แบตเตอรี่มาสนับสนุนการสำรองไฟฟ้า
ดังนั้นการศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) มาร่วมด้วยในอนาคตก็ช่วยได้เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ เช่น ที่โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เกาะไหหลำ จีนเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดย โดยออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน ลดความซับซ้อนของระบบทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า อีกทั้งแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่มีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ปริมาณน้อยแต่ให้พลังงานความร้อนมหาศาล ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน จึงจะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน นอกจากนี้การออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น
สำหรับโรงไฟฟ้า Linglong One ในมณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นโรงไฟฟ้า SMR บนพื้นดินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ซึ่ง กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและต้องเร่งศึกษา รวมถึงเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก ต้องนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทย ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการทำงานและข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR และเกิดการยอมรับ ด้าน กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปีแล้ว
ส่วนการประเมินเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR คาดว่าจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมประมาณ 2 – 3 เท่า แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีอายุการใช้งาน 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ดังนั้นหากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้าก็ถือว่าใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และในอนาคตมูลค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ก็จะถูกลงอีก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาที่แข่งขันได้มากยิ่งขึ้น
“ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMRเป็นGame change ที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว และมีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ” นายเทพรัตน์ ระบุ
โดยโรงไฟฟ้า SMR ที่เกาะไหหลำที่ กฟผ.เข้าเยี่ยมมีชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน ซึ่งมีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 จะมีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น
โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทยอยู่ในสถานะรอความชัดเจน จากแผน PDP2024 ทั้งนี้ กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
สำหรับค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 67) ตรึงที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มเปราะบางใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามนโยบายรัฐบาลลดค่าครองชีพให้ประชาชน. -511-สำนักข่าวไทย