สำนักข่าวไทย 31 ก.ค.-รองเลขาฯ อย.เผยการใช้โคเคนรักษา มีแค่ผ่าตัดจมูก คอ ส่วนยาชาผสมโคเคน ยืนยันมียาชาอื่นที่ประสิทธิภาพดีกว่า
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีสารโคเคนที่กำลังเป็นกระแสว่า มีการนำมาใช้ทางทันตกรรมหรือไม่ ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเสพติดทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และ 4 โดยสารออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 มีอยู่ 20 ตัว อาทิ มอร์ฟีน โคเคน โดยกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ อย.เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนมากจะพบว่ามีการใช้ในห้องผ่าตัดเฉพาะจุด โดยเฉพาะจมูกและคอ ซึ่งที่ผ่านมา อย.จัดส่งให้สถานพยาบาล ตามการร้องขอและทำรายละเอียดว่ามีการใช้จำนวนมากเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละปีจะมีการใช้ปริมาณ 1กิโลกรัม โดยข้อมูลปี 2562 ครึ่งกิโลกรัม ปี 2561 มีการใช้ 0.75 กิโลกรัม และปี 2560 มีการใช้ 1.2 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมียาชาตัวอื่นมีประสิทธิภาพกว่า
เมื่อถามว่า มีการตรวจสอบการใช้ย้อนหลัง10 ปีหรือไม่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่ามี แต่ปริมาณการใช้อยู่ที่เฉลี่ย1 กิโลกรัมต่อปี สำหรับฤทธิ์โคเคนจะออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้เคลิ้ม มีผลต่อการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะและช็อกได้ หากใช้เยอะไปนานๆจะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า หากครอบครองโคเคนโดยไม่มีใบอนุญาตจะเข้าข่ายมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ .-สำนักข่าวไทย