รัฐสภา 13 ก.ค. – กมธ.วิสามัญฯ งบประมาณปี 64 ใช้เวลาถก 16 ชั่วโมง ผ่าน 6 หน่วยงาน เริ่มพิจารณางบในกลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจ เริ่มกระทรวงการคลัง
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร พร้อมด้วยนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 แถลงว่า กรรมาธิการได้ใช้เวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปแล้ว 16 ชั่วโมง จาก 237 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 6.75 ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาแล้ว 6 หน่วยงาน 1 กองทุน จากทั้งหมด 721 หน่วยงาน 21 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 0.94 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เชิญตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การปรับโครงสร้างหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ การนำทรัพย์สินมาชำระหนี้แทนเงินกู้
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงการคลัง มีข้อเสนอแนะควรมีกฎหมายให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากขณะนี้ภาครัฐ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีการโฆษณาจากสื่อออนไลน์หรือการโฆษณาในโซเชียลมีเดียได้ อีกทั้งยังไม่สามารถคาดการณ์เงินจากการจัดเก็บภาษีของปี 2563 ได้ เพราะมีการเลื่อนการจัดเก็บภาษีของปี 2562 เป็นสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ และจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าที่ประมาณการณ์ไว้ ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานชี้แจงว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งการชะลอการจัดเก็บภาษี และดูแลสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง ส่วนพระราชกำหนดรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.BSF นั้น ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดมาขอยื่นกู้ จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจของไทยยังคงเข้มแข็งอยู่
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า กมธ.ได้เริ่มพิจารณางบประมาณในกลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง วงเงิน 268,718 ล้านบาท ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร โดยตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงถึงการจัดทำหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้าง เพื่อกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ประกอบการก่อนการยื่นเสนอราคา รวมทั้งการขึ้นทะเบียนผู้ที่ประมูลงานของรัฐได้ แต่ทิ้งงาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการตรวจสอบประวัติของผู้เสนอประมูลงานของรัฐในโครงการถัดไป โดยที่ประชุม กมธ. ได้ฝากข้อสังเกตุให้กรมบัญชีกลาง พิจารณาแนวทางการจัดทำระบบ e-bidding ให้มีความโปร่งใส
ด้านนางพรรณสิริ กล่าวว่า วันนี้ (13 ก.ค.63) กมธ.จะพิจารณา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังอีก 4 หน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ 6 หน่วยงาน และ 1 กองทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด และกองทุนการออมแห่งชาติ.-สำนักข่าวไทย