สธ.7 มิ.ย.-ศบค.เผยพบผู้ป่วยรายใหม่ 8 รายพักในState Quarantine ทั้งหมด 3 อันดับแรก คือกลับจาก คูเวต- ซาอุดีอาระเบีย-อินโดนีเซีย ส่งผลให้ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศติดต่อกัน 13 วันแล้ว
พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย โดยทั้ง 8 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ State Quarantine ทำให้วันนี้ ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ คือ 0 รายต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 13
ส่วนสถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,112 ราย แยกเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 รายเดินทางมาจากต่างประเทศ 668 ราย และตรวจพบในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 175 ราย วันนี้ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้นอีก 1 รายรวมรักษาหายแล้ว 2,972 ราย สูงถึง 99.5% ที่รักษาหาย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 82 ราย และวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขยังคงที่อยู่ที่ 58 ราย
ทั้งนี้ หากจำแนกตามเพศ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และรักษามากที่สุด คือ กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ อายุเฉลี่ยคงที่อยู่ที่ 39 ปี ที่น่าสนใจคือในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนไทยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คนทำงานทำให้อายุเฉลี่ยที่พบผู้ติดเชื้อ อยู่ที่ 20-29 ปีมากขึ้น
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย คือ กลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5ราย เดินทางมาถึงไทยวันที่ 2 มิ.ย. ตรวจเชื้อโควิค-19 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แต่ไม่พบเชื้อ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยตรวจพบเชื้อทุกราย แต่ไม่มีอาการ และเข้ารับการรักษาที่กรุงเทพฯ ส่วนอีก 2 รายเดินทางกลับมาจากคูเวต เป็นเพศชายอายุ 46 และ 37 ปีอาชีพรับจ้างเดินทางมาถึงไทย 24 พ.ค. ตรวจหาเชื้อ 27 พ.ค.แต่ไม่พบเชื้อและตรวจอีกครั้ง 6 มิ.ย.ครั้งที่ 2 พบเชื้อแต่ไม่มีอาการและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการอีก1 ราย เดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย เป็นผู้ป่วยเพศชายอายุ 52 ปี เดินทางมาถึงไทย 5 มิ.ย.รายนี้ตรวจคัดกรองที่สนามบินปรากฏว่าพบเชื้อโควิค-19 มีอาการไข้ ไอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ในจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในState Quarantine จนถึงวันนี้ 7 มิ.ย.มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 175 ราย อัตราผู้ป่วยที่พบคือกลับจากประเทศต้นทาง 3 อันดับแรก คือคูเวต ซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซีย
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มากที่สุด คือผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ มีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่เป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบในประเทศ คือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้า หากจำแนกตามอาชีพในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่กลับจากต่างประเทศ อาชีพที่พบมากที่สุดคือนักเรียน นักศึกษา พนักงานนวด รับจ้างทั่วไปและพนักงานบริษัทหรือโรงงาน
อย่างไรก็ตาม ขอให้ติดตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 จาก ศบค.อีกครั้ง ในกิจการที่ยังมีความเสี่ยงคือโรงเรียน ผับบาร์ สถานรับเบี้ยงเด็กที่ยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างมาก แม้ 13 วันที่ผ่านมาไม่มีการติดเชื้อในประเทศ ตามหลักการระบาดวิทยา แล้วระยะฟักตัวของเชื้อคือ14 วัน แม้จะครบ14 วันก็ยังประมาทไม่ได้ จุดที่จะบอกว่าความเสี่ยงต่ำของการระบาดของเชื้อ คือ 28 วัน จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการ การ์ดอย่าตก
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 7ล้านราย เสียชีวิตเกือบ 4 แสนราย โดยภานใน 1 วัน ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 คน และสหรัฐ ยังคงเป็นอันดับแรก ส่วนบราซิล อยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง สำหรับฝั่งเอเชีย ประเทศอินเดีย มีผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันทะลุ 1 หมื่นราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมเกือบ 2แสนราย อยู่ในอันดับ 6 และประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 81
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ก่อนออกนอกเคหสถาน โดยก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าให้สวมหน้ากากอนามัยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีประกาศคำแนะนำไหม่ว่า แนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกนอกบ้านรวมถึงล้างมือเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ขณะที่ทีมนักวิจัยในประเทศจีนในเมืองอู่ฮั่นวิจัยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงจะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่มีอัตราป่วยความดันโลหิตสูงถึง 4 เท่า อีกหนึ่งประเด็น มาจากซาอุดีอาระเบีย ประกาศปิดเมืองเจดดาห์ หลังพบว่ามีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เมืองเจดดาห์เป็นเมืองสู่นครเมกกะ ซึ่งจะมีผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่เดินทางไปเป็นจำนวนมาก ล่าสุดสาธารณสุขซาอุดีอาระเบียใช้มาตรการที่เข้มงวดพร้อมประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่ บ่าย 3 ถึง 6โมงเช้า ให้พนักงานเอกชนพนักงานของราชการปฏิบัติงานที่บ้าน หลังจากพบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้น มีการใช้แผนกผู้ป่วยวิกฤติ ICU เพิ่มขึ้น ขณะนี้ซาอุดีอาระเบียมีผู้ป่วยสะสมของโควิด-19 มากที่สุดในประเทศกลุ่มอาหรับ.-สำนักข่าวไทย