5 มิ.ย. – สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ล่าสุด กรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในรอบสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้น และเสียชีวิต 6 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 25 67 มีผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,863 คน หรือเฉลี่ยวันละ 266 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 738 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 316 คน และเสียชีวิต 6 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในกลุ่ม 608 อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ ในกรณียอดติดเชื้อโควิดนอกโรงพยาบาล (ATK+) ไม่นับยอดรวมกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล
ป่วยโควิดเข้ารักษาตัวใน รพ.เพิ่ม 30 คนต่อวัน
สำหรับสถานการณ์โควิดในจังหวัดต่างๆ เช่น จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ล่าสุดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น กระจายในทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.เมือง กะทู้ และ อ.ถลาง จากปัจจัยการเคลื่อนตัวของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีจำนวนมาก และการเป็นเมืองท่องเที่ยวใหญ่ มีสถานบริการ สถานบันเทิง เป็นสถานที่ปิดจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อ โดยผู้ติดเชื้อที่ขอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสัปดาห์นี้มีเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละประมาณ 30 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจจะไม่ได้สะท้อนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง เนื่องจากผู้มีอาการไม่รุนแรง ไม่ได้เข้ารับยาและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ สสจ.ภูเก็ต ไม่มีตัวเลขยืนยันที่ชัดเจน เมื่อนับจากเดือนมกราคมถึงปัจจุบัน รวม 6 เดือน พบว่า ใน จ.ภูเก็ต มีผู้ป่วยโควิด ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต รวม 6 คน ส่วนยอดผู้ติดเชื้อ รวม 511 คน
กลุ่ม 608 อย่าประมาทโควิด หลังระบาดมากขึ้น
ส่วนพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์) มีการแพร่ระบาดของโควิดมากขึ้น โดย จ.ขอนแก่น มีผู้ป่วยมากที่สุด โดยภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ตั้งแต่ 1 มกราคม–31พฤษภาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยโควิด ทั้งสิ้น 1,337 คน เสียชีวิต 1 คน เป็นหญิงสูงอายุ 83 ปี ชาวมหาสารคาม
ขณะ ทีมข่าวไปสังเกตการณ์ ที่ศูนย์แพทย์วัดหนองแวง พระอารามหลวง พื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น เครือข่ายโรงพยาบาลขอนแก่น พบข้อมูล มีผู้ป่วยโควิดเฉลี่ยวันละ 10 คน แต่เกือบทั้งหมดจะให้ญาติมารับยาแทน เพื่อไม่เป็นต้นเหตุเพิ่มการแพร่เชื้อ ส่วนการให้ยาจะให้ตามระดับความเสี่ยง กลุ่ม 608 ที่มีภูมิต้านทานต่ำเป็นกลุ่มแรก และในรายที่มีอาการรุนแรงก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาล ย้ำกลุ่ม 608 ให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เช่นเดียวกับคนที่มีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
เชียงใหม่ยังปกติ และมีแนวโน้มลดลง
ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโควิดสะสม 7,200 คน เสียชีวิตรวม 13 คน หรือร้อยละ 0.7 ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีนี้การแพร่ระบาดโควิดของเชียงใหม่ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ แต่จากนั้นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียน แต่ยังไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่ม มีผู้ป่วยโควิดยืนยันเพียง 10 คน และยังไม่พบผู้เสียชีวิตติดต่อกันเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งข้อมูลนี้เป็นสถิติเฉพาะผู้ป่วยในระบบ ที่เข้ามาตรวจในโรงพยาบาล ไม่รวมผู้ป่วยที่ตรวจเองและกักตัวอยู่บ้าน ซึ่งไม่สามารถระบุตัวเลขได้ แต่ไม่น่าเพิ่มจากในระบบมากนัก
“หมอยง” เผยโควิดแตกสายพันธุ์เยอะจนวัคซีนตามไม่ทัน
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่องโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ว่า การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสโควิด เกิดขึ้นมาโดยตลอด ทำให้การพัฒนาวัคซีนให้ตรงกับสายพันธุ์เป็นไปได้ยากมาก วัคซีนในปัจจุบันพัฒนามาถึงสายพันธุ์ XBB 1.15 แต่ไวรัสก็พัฒนาหนีออกไป เป็นสายพันธุ์ JN.1 ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนทดลอง
องค์การอนามัยโลกนำสายพันธุ์ใหม่ที่จะนำมาทำวัคซีน เป็นสายพันธุ์ JN.1 แต่ขณะนี้สายพันธุ์นี้ก็แตกลูกหลานออกมาเป็นสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกเช่น JN1.18 KP.2 KP.3 สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีมามีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อย่างชัดเจนที่ศูนย์ติดตาม จะเห็นว่า JN.1 เริ่มลดลง และมีสายพันธุ์ลูกของ JN.1 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ เฟิลท เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นจะทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันยิ่งลดประสิทธิภาพลง แต่สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะลดลง ตามธรรมชาติ .-สำนักข่าวไทย