กรุงเทพฯ 8 พ.ค. – ก.พลังงานรับนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) แก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ทั้งให้ กฟผ.ซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เต็มตาม มติ ครม.เดิม และซื้อเพื่อสตอกทำไบโอดีเซล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมตรีฝ่ายการเมือง ที่รับนโนบายจาก กนป.มาหารือเรื่องร่วมมือแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้มีนโยบายจะไม่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อซีพีโอ เพื่อไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะมีต้นทุนสูงเป็นภาระค่าไฟฟ้าและงบประมาณ แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงไป เพราะผลกระทบโควิด-19 การบริโภคน้ำมันปาล์ม และการใช้ดีเซลบี 10 ต่ำกว่าคาด จึงส่งผลกระทบต่อการดูซับซีพีโอ ทำให้ราคาเหลือประมาณ 21 บาท/กก. ราคาผลปาล์มดิบเหลือ 2.70 บาท/กก. ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้จึงเห็นร่วมกันว่าควรให้ กฟผ.รับซื้อซีพีโอมาผลิตไฟฟ้าอีก 37,550 ตัน ให้เต็มจำนวน 200,000 ตัน ตามมติ ครม. 7 พฤษภาคม 2562 เพราะที่ผ่านมา กฟผ.มีการประมูลและยังซื้อไม่ครบ ส่วนในอนาคตจะรับซื้อเพิ่มเติมอีกหรือไม่ คงจะดูสถานการณ์ต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อเร่งดูดซับซีพีโอ ได้มอบให้กรมธุรกิจพลังงานไปพิจารณาว่าจะให้โรงงานไบโอดีเซลที่ผลิตบี100 ซื้อสตอกซีพีโอล่วงหน้าได้หรือไม่ โดยขณะนี้หลังจากการที่รัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์การใช้น้ำมันดีเซลกลับมาขยับเพิ่ม จากเดือนเมษายนยอดใช้กลุ่มดีเซลลดลงไปถึงร้อยละ 15 หากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วการใช้ซีพีโอเพื่อทำบี 10 ก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่ 2.1 ล้านตัน/ปี คิดเป็นการใช้ซีพีโอประมาณ 2/3 ส่วนของการผลิตในประเทศ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อราคาปาล์ม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาซีพีโอกับผลปาล์มดิบขณะนี้ไม่สัมพันธ์กัน เพราะราคาผลปาล์มดิบควรจะอยู่ที่ 3 บาท/กก. เมื่อราคาซีพีโอกว่า 21 บาท แต่ในท้องตลาดผลปาล์มดิบกลับอยู่ที่กว่า 2 บาท/กก.เท่านั้น ทั้งที่สตอกซีพีโออยู่แค่กว่า 200,000 ตัน จึงได้ฝาก พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ ช่วยดูแลถึงกลไกของตลาดด้วย มีอะไรที่ผิดปกติ ทำให้เกษตรกรได้ราคาปาล์มที่ต่ำเกินจริง ควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงพลังงาน
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หาก กฟผ.จะต้องดำเนินการตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ในการเปิดประมูลรับซื้อซีพีโอปริมาณคงค้าง 37,550 ตันนั้น จะต้องดำเนินการรับซื้อตามราคาตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 21 บาท/กิโลกรัม คาดว่าจะต้องใช้เงินเข้าไปรับซื้ออีก 822 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินการตามมาตรการรัฐในการเข้าไปรับซื้อซีพีโอ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้วปริมาณรวมอยู่ที่ 320,789 ตัน คิดเป็นวงเงิน 5,765 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ประมาณ 1,842 ล้านบาท ได้รับเงินชดเชยจากกระทรวงพาณิชย์แล้ว 88 ล้านบาท ขอเบิกเงินชดเชยจากกระทรวงพลังงาน 418 ล้านบาท อยู่ระหว่างกระทรวงพลังงานขอรับการจัดสรรงบกลางอีก 1,794 ล้านบาท และที่เหลืออีก 1,622 ล้านบาท กฟผ.ไม่สามารถส่งผ่านค่า Ft ได้. -สำนักข่าวไทย