กรมการแพทย์ 7 พ.ค.-แพทย์เตือนดื่มแอลกอฮอล์ประจำ ส่งผลภูมิคุ้มกันร่างกายลด เพิ่มโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่การสังสรรค์เป็นกลุ่มยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ชี้หากหยุดดื่มต่อได้จากช่วงห้ามขายเหล้า จะทำให้ตับฟื้นตัว ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานได้มากขึ้น ป้องกันการติดเชื้อได้
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) รัฐบาลได้ประกาศปิดร้านอาหารหรือสถานประกอบการขายสุรามาตั้งแต่ 1 เม.ย. และต่อมาได้มีมติผ่อนปรนให้เปิดร้านอาหารหรือจำหน่ายสุราได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.แล้วนั้น ทำให้นักดื่มใช้โอกาสนี้ทั้งซื้อมาดื่มเองหรือตั้งวงสังสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีภาวะติดสุราเรื้อรัง หลังจากไม่ได้ดื่มมาระยะนึงจะทำให้เกิดอาการอยากอย่างรุนแรงหรือเสี้ยน (craving) เมื่อกลับมาดื่มซ้ำจะทำให้หลังเริ่มดื่มแก้วแรกเข้าไปแล้วจะไม่สามารถควบคุมให้ตัวเองหยุดดื่มได้ ทำให้ดื่มในปริมาณมากกว่าที่เคยดื่ม มีผลให้เกิดพิษสุราแบบเฉียบพลันได้ง่ายกว่าปกติ
กล่าวคือทำให้สมาธิลดลง มึนงง ปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติช้าลง เสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การยับยั้งชั่งใจน้อยลงทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นได้ง่าย กดการหายใจและ การเต้นของหัวใจ ไม่รู้สึกตัว การหายใจช้าลงและอาจเสียชีวิตได้โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ ดื่มเข้าไป
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีประโยชน์ใดๆ และในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย และการสังสรรค์เป็นกลุ่มยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันหากสามารถหยุดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปได้จะทำให้ตับได้มีการฟื้นตัว ซึ่งตับสามารถฟื้นตัวเองได้ภายใน 3 เดือน เมื่อตับฟื้นตัวจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้มากขึ้น ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19ได้
ทั้งนี้ การดื่มสุรานอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ดื่มเอง ยังอาจเกิดผลกระทบต่อสังคมและบุคคลรอบข้างได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง และทำร้ายผู้อื่น เกิดการบาดเจ็บและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดสังเกตพฤติกรรม หากมีการดื่มสุราไม่ควรให้ขับขี่ยานพาหนะเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือหากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดสุรา เช่น มีความอยากดื่มสุราในปริมาณมากขึ้น ไม่ได้ดื่มจะมีอาการมือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ไม่สามารควบคุมการดื่มได้ มีความต้องการเลิกดื่มสุราหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ หมกมุ่นกับการดื่มสุราหรือการหาสุรามาดื่ม เสียหน้าที่การงาน และยังดื่มสุราทั้งๆ ที่มีอาการป่วยซึ่งแสดงว่าหยุดดื่มไม่ได้ ให้รีบพาไปแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา
โดยสามารถขอรับคำปรึกษาหรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และรพ.ธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ปัตตานี และ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ สอบถามสายด่วนยาเสพติด 1165 และ www.pmindat.go.th .-สำนักข่าวไทย