กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – 3 สมาคมนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีเกษตร เตรียมฟ้องรัฐหากออกประกาศยกเลิก 3 สาร ชี้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังบังคับให้จ่ายค่าทำลายตันละแสนบาท ล่าสุดทำหนังสือถึงนายกฯ และ ก.พ.ร.สอบกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากไม่อนุญาตให้นำเข้าและส่งออกสารเคมีการเกษตรทุกชนิดมาหลายเดือนแล้ว โดยกฎหมายยกเลิก 3 สารยังไม่มีผลบังคับใช้
นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญจาก น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่มีข่าวว่าจะเชิญสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีไปประชุมที่กระทรวงเกษตรฯ วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ จากการหารือร่วมกับสมาคมอารักขาพืชไทยและสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยเห็นตรงกันว่าหากมีหนังสือเชิญมาก็จะไปประชุม แม้ไม่คาดหวังว่า น.ส. มนัญญา จะรับฟังเหตุผลอะไร เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่า ตัดสินใจกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยใช้อารมณ์และขาดข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ แต่จะไปเพื่อชี้แจงถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแก่ผู้ประกอบการ แต่ยังรวมถึงเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมเกษตร ปัญหาการค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจชาติ
ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกเพียง 14 วัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะลงนามในประกาศกระทรวงฯ ปรับสถานะสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก นำผ่าน และครอบครอง ดังนั้น การที่ น.ส.มนัญญา พร้อมจะสั่งการกรมวิชาการเกษตรออกใบอนุญาตส่งสารเคมี 3 ชนิดขายคืนบริษัทผู้ผลิตหรือส่งออกไปประเทศที่3 นั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะหากขายคืนบริษัทผู้ผลิตราคาก็ได้น้อยกว่าที่ซื้อมาทั้งยังต้องจ่ายค่าขนส่งด้วย ส่วนการส่งขายประเทศที่ 3 คงขายได้ไม่มาก จากจำนวนสินค้าที่มีอยู่ในประเทศเกือบ 30,000 ตัน เนื่องจากกระชั้นชิดเวลาที่จะออกประกาศยกเลิกการใช้แล้ว ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรไม่ออกใบอนุญาตให้ทั้งนำเข้าและส่งออกสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดมาหลายเดือน ทั้งที่กฎหมายยกเลิก 3 สารยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียหาย ล่าสุดได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อให้สอบสวนกรมวิชาการเกษตรฐานกระทำผิด พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 รวมทั้งทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีด้วย
นอกจากนี้ ยังร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมผู้อาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่งเหลืองและรำข้าวซึ่งใช้เมล็ดถั่วเหลืองแห้งและกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งสาลี เบเกอรี่ และขนมขบเคี้ยวต้องใช้วัตถุดิบ คือ ข้าวสาลีที่นำเข้าจากต่างประเทศทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงผลกระทบจากการที่จะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ได้ เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกมาไทยใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั้งสิ้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแต่ละรายสตอกวัตถุดิบไว้เพียง 2-3 เดือน หากนำเข้าไม่ได้ โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องปิดตัวลง จะมีคนตกงานมากมาย และเกิดปัญหาสังคมต่าง ๆ ตามมาแน่นอน สิ่งที่ภาครัฐไม่ได้นึกถึงก่อนตัดสินใจเรื่องนี้ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศที่อาจล่มสลาย นอกจากนี้ ยังทำผิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ไทยจะถูกร้องเรียนว่ากีดกันทางการค้าจากหลายประเทศ
นายวีรวุฒิ กล่าวต่อว่า เตรียมจะร้องศาลปกครองเช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกร โดยจะรอดูว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร เมื่อกลุ่มเกษตรกรยื่นคำร้อง หากไม่มีการคุ้มครองชั่วคราว ทั้ง 3 สมาคมจะร้องเป็นอีกคดีหนึ่ง ส่วน น.ส.มนัญญา ระบุว่า ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้จ่ายค่าทำลายเองนั้น เชื่อว่าบริษัทที่นำเข้าและจำหน่าย รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ จะฟ้องอีกคดีความหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนนำเข้าและจำหน่ายกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“ 50 ปีที่ผ่านมามีการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรไป 98 ชนิด โดยไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าทำลาย แต่กรมวิชาการเกษตรจะมีกำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าคงค้างได้หมด ทางออกของเรื่องนี้มีเพียงประการเดียว คือ ยึดตามมติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจำกัดการใช้ กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมให้มีการวิจัยว่า สารเคมีการเกษตรที่จะยกเลิกนี้ หากใช้อย่างถูกต้องจะมีพิษจริงหรือไม่ เนื่องจากงานวิจัยที่นำมาพิจารณาไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งจะสามารถทดลองการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและหาสารอื่นที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมมาทดแทน จึงประกาศยกเลิก ซึ่งประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติเช่นนี้ทั้งนั้น หากวันที่ 1 ธันวาคมประกาศยกเลิกทันที ห่วงโซ่อาหารและเศรษฐกิจของประเทศจะล่มสลายในระยะเวลาอันรวดเร็ว” นายวีรวุฒิ กล่าว.-สำนักข่าวไทย