กรุงเทพฯ 24 พ.ย. – เกษตรฯ เร่งสรุปแนวทางเยียวยาเกษตรกรจากการยกเลิก 3 สาร ยันกรมวิชาการเกษตรเตรียมเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 6 เดือน
นายอนันต์ สุวรรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด กล่าวถึงข่าวที่ระบุว่าคณะทำงานฯ จะเสนอของบประมาณเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจก 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผลสูงถึง 33,000 ล้านบาท ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ตัวเลขดังกล่าวสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินต้นทุนเกษตรกรหากยกเลิกใช้ 3 สารแล้วต้องปรับเปลี่ยนไปใช้สารอื่นและเครื่องจักรกลการเกษตรแทนแล้วรายงานมาให้ทราบ ไม่ใช่เป็นข้อสรุปว่า กระทรวงเกษตรฯ จะของบประมาณจากรัฐบาล 33,000 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยแก่เกษตรกร ทั้งนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อประชุมอีกครั้งต้นสัปดาห์ เมื่อได้ข้อสรุปจะต้องนำเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังประเมินระยะเวลาการดำเนินการกับสารเคมี 3 ชนิด ทั้งการแจ้งการครอบครองและการจัดเก็บ หากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรรมเรื่อง การปรับสถานะ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม ตามขั้นตอนกรมวิชาการเกษตรต้องเปิดรับแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน และต้องให้ผู้ครอบครองนำมาส่งมอบภายใน 15 วันหลังการแจ้ง ซึ่งเหลือเวลาเพียง 8 วันนั้นกระชั้นชิดมาก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการนำเข้าและผลิต และร้านจำหน่ายตั้งตัวไม่ทัน อีกทั้งกระบวนการจัดการกับสารเคมี 3 ชนิด ซึ่งมีอยู่เกือบ 30,000 ตันนั้น กรมวิชาการเกษตรระบุว่าต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน จึงจะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายยกเลิกออกไป 6 เดือน แต่การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย
“คณะทำงานฯ ของกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเรื่องการส่งสารเคมีคงค้างกลับคืนบริษัทและส่งไปประเทศที่ 3 เพื่อลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและลดค่าใช้จ่ายในการทำลาย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรรายงานว่า หากสารเคมีทั้ง 3 ชนิดยังอยู่ในรูปแบบสารตั้งต้นสามารถส่งคืนและส่งออกได้ แต่หากผู้ประกอบการนำมาผสมเป็นสูตรที่ปรับให้เหมาะต่อการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชของไทยแล้ว ไม่สามารถจะส่งคืนบริษัทหรือส่งไปประเทศอื่นได้ ดังนั้น ปริมาณสตอกคงค้างจึงจะยังมีอยู่มากต้องใช้เวลาในการจัดเก็บและทำลาย” นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) รายงานว่าขณะนี้ประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา และสหรัฐอเมริกาทำหนังสือมาถึง เพื่อให้ไทยชี้แจงรายละเอียดการยกเลิก 3 สาร หากยกเลิกจริงตามระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) ไทยจะต้องนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการตกค้างของสารเคมีที่ยกเลิกนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจริง เนื่องจากหากไทยปรับสถานะพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า ส่งออก ผลิต นำผ่าน และครอบครอง ประเทศคู่ค้าจะไม่สามารถส่งสินค้าเกษตรมายังไทยได้เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังคงใช้สาร 3 ชนิด แต่มีค่าตกค้างตามคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex; Joint FAO/WHO Food Standards Programme) หรือแม้จะตรวจสอบพบว่าค่าตกค้างต่ำกว่า Codex แต่ตามกฎหมายกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า การตกค้างของอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ต้องมีค่าเป็น 0 (zero tolerance) ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นความเดือดร้อนของเฉพาะประเทศคู่ค้าจากการไม่สามารถส่งสินค้ามาจำหน่ายในไทยได้ แต่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปเป็นอาหารและอาหารสัตว์ด้วย หากไม่สามารถนำเข้าได้อุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคการเกษตรจะหยุดชะงัก เกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหาร ตลอดจนไม่มีสินค้าส่งออกเป็นผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ต้องพิจารณาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเข้าและผลิตสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อส่งไปบริษัทผู้ผลิตและประเทศที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ จะช่วยลดปริมาณสตอกคงค้างในประเทศก่อนที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้ 3 สารมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคมทันที โดยใบขึ้นทะเบียนนำเข้าและครอบครองวัตถุอันตรายมีทั้งหมด 60 ฉบับ ปริมาณ 2,829,913 ลิตร ประกอบด้วย พาราควอตไดคลอไรด์ 5 ฉบับ ปริมาณ 1,480,000 ลิตร ไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม 2 ฉบับ ปริมาณ 9,552 ลิตร คลอร์ไพริฟอส + ไซเพอร์เมทริน 1 ฉบับ ปริมาณ 12,480 ลิตร คลอร์ไพริฟอส 1 ฉบับ ปริมาณ 13,860 ลิตร และสารชนิดอื่น 51 ฉบับ ปริมาณ 1,314,021 ลิตร ดังนั้น ปริมาณสารเคมีทางการเกษตรที่คณะกรรมการวัตถอันตรายมีมติปรับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 รวม 1,515,892 ลิตร.-สำนักข่าวไทย