กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – แกนนำเกษตรกรส่งผลรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้ 3 สารแล้ว เผยมีเกษตรกรไม่เห็นด้วยกว่า 13,000 คน ด้านอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรชี้ส่อเค้ายุ่ง หากผลรับฟังความคิดเห็นที่กรมวิชาการเกษตรรวบรวมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า รัฐมนตรีอุตสาหกรรมจะลงนามร่างประกาศยกเลิกใช้หรือไม่
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ได้รวบรวมแบบแสดงความเห็นของเกษตรกรส่งสำนักนิติการ กรมวิชาการเกษตรแล้ว ปรากฏว่า มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 13,441 คน โดยวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเกษตรกรต้องการทราบจำนวนผู้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ อีกทั้งผลสรุปทั้งหมดว่าสัดส่วนของผู้ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยเป็นอย่างไร แต่ไม่แน่ใจว่ากรมวิชาการเกษตรจะเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะหรือไม่
นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า หากผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดออกมาว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดมากกว่าผู้ไม่เห็นด้วย คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะทำอย่างไร และยังยืนยันเช่นเดิมที่จะลงนามให้ประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคมนี้หรือไม่ หากดึงดันที่จะออกประกาศ เกษตรกรทั้งประเทศที่ซื้อสาร 3 ชนิดมาไว้ใช้จะนำทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสไปส่งยังห้องของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายอุนทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในวันที่ 1 ธันวาคมทันทีตามข้อบังคับของกฎหมายที่ห้ามครอบครอง
นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามมารยาทกรมวิชาการเกษตรไม่ควรเปิดเผยผลรับฟังความคิดเห็น แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ต้องให้ข้อมูลจริงต่อสังคมเนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมให้กรมวิชาการเกษตรไปยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการปรับสถานะสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ซึ่งต้องห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย และครอบครอง และให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อร่างประกาศดังกล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นสมควรทำก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติ เพื่อจะได้ทราบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร หลังจากนี้กรมวิชาการเกษตรจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไป หากผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการยกเลิก นายสุริยะ ก็มีเหตุผลในการลงนามออกประกาศ แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะทบทวนมติหรือไม่ ถ้ายังคงยืนยันตามมติเดิม ก็เกิดข้อกังขาว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่ออะไร
“ทันทีที่ประกาศกระทรวงฯ ยกเลิกใช้ 3 สาร มีผลบังคับใช้ ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการจะร้องศาลปกครองแน่นอน อีกทั้งยังจะมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ขณะนี้บราซิลเตรียมหารือต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะไทยจะไม่สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ได้ทันทีที่ประกาศมีผลบังคับใช้และเชื่อว่าอีกหลายประเทศจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ทางการค้าเช่นกัน” นายอดิศักดิ์กล่าว.-สำนักข่าวไทย