กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – บอร์ดรถไฟชุดใหม่เห็นชอบร่างสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยให้ผู้ว่าฯ รถไฟลงนามสัญญา 25 ต.ค.นี้ ระบุกลุ่มซีพีรับแผนการส่งมอบพื้นที่ตามที่ กพอ.อนุมัติ เตรียมยื่นศาลขอคุ้มครองชั่วคราวชะลอจ่ายโฮปเวลล์ 25,000 ล้านบาท
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชุดใหม่เมื่อวานที่ผ่านมา (16 ต.ค.) หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งล่าสุด ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รวมถึง ครม.และบอร์ดชุดใหม่ได้เห็นชอบให้นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี วันที่ 25 ตุลาคมนี้
นายวรวุฒิ กล่าวว่า แผนการส่งมอบพื้นที่จะเป็นไปตามที่ กพอ.อนุมัติล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา คือ แบ่งเป็น 3 ช่วง คาดว่าเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีความชัดเจนและสามารถเริ่มเข้าพื้นที่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่มีปัญหากับกลุ่มซีพีแล้วเท่าที่เจรจา หลังลงนามในสัญญาการรถไฟฯ จะออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี แต่สามารถขยายเวลาได้ถึง 2 ปี ซึ่งยืนยันว่าจะไม่เกิดการยกเลิกสัญญาในโครงการนี้อย่างแน่นอน
“หากส่งมอบพื้นที่ไม่ทัน ในกรณีที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น มีการประท้วง สามารถต่อเวลาให้กับเอกชนได้เท่าที่เสียไปจริง ซึ่งในทางกฎหมายแม้จะเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากจะเกิดขึ้นได้ คือ กรณีที่ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย” นายวรวุฒิ กล่าว
ส่วนประเด็นการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มซีพี ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าทางการรถไฟฯ จะไม่ยึดแนวทางตามสัญญานั้น นายวรวุฒิ ยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตาม Request for Proposal (RFP) ที่เป็นสัญญาผู้จ้างกับผู้รับจ้างมีการระบุเอาไว้ ซึ่งจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนเกิดขึ้นก็คือตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปต่อเนื่อง 10 ปีในสัดส่วนเท่า ๆ กัน โดยนับจากวันที่ออก NTP ให้กับเอกชนไปแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ ในการประชุมบอร์ด รฟท.ชุดใหม่นัดแรกนั้น นายวรวุฒิ ได้รายงานข้อมูลภายหลังคณะทำงานที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพบหลักฐานใหม่ และมอบหมายให้ รฟท.ไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งและพาณิชย์ ในประเด็นการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ดำเนินการขอและได้รับการยกเว้น ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีโฮปเวลล์ที่ศาลตัดสินแล้ว โดยมีกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยมูลค่ารวมประมาณ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,000 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดวันที่ 19 ตุลาคมนี้นั้น ได้มอบหมายให้อาณาบาล รฟท. หรือฝ่ายกฎหมายไปหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในฐานะคู่สัญญาร่วมกัน ก่อนเตรียมยื่นของดการบังคับคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพื่อขอให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราวและชะลอการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม หากศาลไม่รับการพิจารณานั้น รฟท.ก็พร้อมมี่จะดำเนินการตามกระบวนการคำสั่งของศาลต่อไป
นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ (17 ต.ค.) เวลา 09.00 น. บอร์ด รฟท.จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,600 ล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่าโครงการโฮปเวลล์ผ่านมาแล้วมากกว่า 20 ปี จึงเป็นที่คาใจว่าเหตุใด รฟท.จึงปล่อยให้บริษัทที่มีต่างด้าวถือหุ้นเกินเข้ามารับโครงการใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจน ถือเป็นความหละหลวมที่เสี่ยงต่อผลประโยชน์รัฐ เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.มีงานก่อสร้างระบบรางหลายสายทั้ง รถไฟทางคู่ รถไฟไฮสปีดไปจนถึงงานพัฒนารถไฟสายต่าง ๆ เป็นที่น่าสนใจว่าได้มีการตรวจสอบบริษัทที่เข้ามาประมูลหรือบริษัทที่ได้รับงานมากน้อยแค่ไหน เพราะอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนจนกลายเป็นค่าโง่ในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ประธานบอร์ดการรถไฟคนปัจจุบันยอมรับว่ากรณีโฮปเวลล์ไม่มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจริง เป็นเรื่องสมัยหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งยุคนั้นอาจเกิดข้อผิดพลาดได้.-สำนักข่าวไทย