กรุงเทพฯ 17 ส.ค. –“สงครามการค้า” ส่งผลนักลงทุนไต้หวันย้านฐานทั้งกลับประเทศ และมุ่งสู่ใต้ “อาเซียน-เอเชียใต้” ในขณะที่นโยบายปฎิรูปพลังงาน ขยายฐานพลังงานทดแทนก็ดึงดูดนักลงทุนไทยเข้าไปหาโอกาสลงทุนในไต้หวัน
ปัญหาสงครามการค้า”สหรัฐ-จีน” ที่มีการตั้งเก็บภาษีซึ่งกันและกันหลายระลอก ส่งผลให้นักลงทุนมีการเคลื่อนย้ายจากจีนไปประเทศอื่นๆมากยิ่งขึ้น ในส่วนของนักลงทุนไต้หวันก็เช่นกันมีการย้ายฐานทั้งกลับประเทศไต้หวัน และมองพื้นที่การลงทุนเข้ามาในอาเซียนและเอเชียใต้ ตาม”นโยบาย มุ่งใต้ไหม่”ของรัฐบาลไทเป ที่ประกาศได้ตั้งแต่ 16 สิงหาคม 2559 และเพื่อรองรับผลกระทบไต้หวันได้ผลักดันงบประมาณ ในปี 2562 เกินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน เป็นครั้งแรก มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบาย ปฏิรูปพลังงาน ภายใต้ นโยบายพลังงานสีเขียว (Green Policy) ผลักดันการใช้พลังงานทดแทน ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ภายใน 8 ปี(2561-2568 ) โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำและพลังงานสีเขียวให้สมบูรณ์แบบและผลักดันโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่ออนาคต มูลค่ารวมกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี เปิดเผยว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่จีพีเอสซีให้ความสนใจศึกษาเพื่อเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะพลังงานทดแทน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของ กลุ่ม ปตท.ที่ต้องการลงทุนพลังงานสะอาดถึง 8 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ซึ่งคงต้องเข้าไปศึกษากฏระเบียบเป็นอย่างไร และเปิดรับนักลงทุนอย่างไรบ้าง โดยตามแผนของไต้หวันมีการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่หลากหลาย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
ด้านสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน (Industrail Technology Research Institute ;ITRI ) ระบุว่า ตามแผนงานของไต้หวันจะเพิ่มพลังงานทดแทน เป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปี 2561ที่ 6420 เมกะวัตต์ เป็น 30,161 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการอุดหนุนในรูปแบบ FIT แตกต่างกันไป เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ อุดหนุน มากกว่า 4 ดอลลาร์ไต้หวัน/หน่วย ปลายแผนงานจะมีรวม 2 หมื่นเมกะวัตต์ พลังงานลมอุดหนุนประมาณ 3 ดอลลาร์ไต้หวันต่อหน่วย มีรวม 6,938 เมกะวัตต์ เป็นรูปแบบพลังงานลมบนบกและในทะเล รวมทั้งมีพลังงานอื่นๆ อีกด้วย ในขณะที่ITRI มีการพัฒนางานวิจัยและพัฒนา ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการขายเทคโนโลยี ทั่วโลกหนึ่งในเทคโนโลยี การกักเก็บพลังงาน (ENERGY Storage ) ก็มีบริษัทของไทย บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรืออีเอ ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการนำมาใช้กับรถยนต์อีวี ที่อีเอกำลังพัฒนา
นายเฉินหรงจิน (Jong-Chin Shen )รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งไต้หวัน กล่าวว่าปัญหาสงครามการค้าทำให้นักลงทุนไต้หวันย้านฐานเป็นจำนวนมาก เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบต่างในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสินค้าไฮเอนด์ ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกำหนดแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านต่างๆ โดยเฉพาะ”นโยบายมุ่งใต้ใหม่” จะรองรับการย้ายฐานได้ดี ซึ่งประเทศหลักที่นักลงทุนไต้หวันให้ความสนใจคือประเทศไทย,ฟิลิปปินส์ ,เวียดนาม ,อินโดนีเซีย ,มาเลเซีย ,อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยขณะนี้มีอินเดียและฟิลิปปินส์เสนอแผนตอบรับจูงใจการลงทุนมาแล้ว โดยในส่วนของไทย ทางไต้หวันก็ต้องการเห็นแผนงานตอบรับที่ดี โดยสิ่งที่นักลงทุนไต้หวันต้องการมากที่สุดคือ เมื่อเข้าไปลงทุนแล้วจะมีอะไรการันตี หรือรับรองได้ว่าเงินลงทุนจะไม่สูญเสีย
“การย้ายฐานของนักลงทุนไต้หวันจากปัญหาเทรดวอร์ มีมูลค่านับแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ก็หวังว่าทางไทยจะไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้ผ่านไป โดยหากไทยการันตีด้านทรัพย์สินการลงทุน Cash Flow หรือมีสิทธิประโยชน์ที่ดี มีนิคมอุตสาหกรรมรองรับที่พร้อม ทางนักลงทุนก็จะนำมาพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาเราทราบเรื่องอีอีซีของไทยบ้าง แต่ก็อยากดูเรื่องการการันตี โดยขณะนี้ทางอินเดียและฟิลิปปินส์ได้มีการอัพเดตข้อมูลมาแล้ว”นายเฉินหรงจินกล่าว
นายมงคล สุขเกษมไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไวร์มาสแตอร์อินดัสตรี้ (ไทยแลนด์ ) กล่าวว่า ในขณะนี้ทางบริษัทได้ขยายกิจการเข้าไปซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ ตำบลหนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่ 690ไร่ ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้เป็นเขตส่งเสริมอีอีซี เป็นนิคมฯรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ โดยใช้เงินลงทุนแล้ว 2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการเข้าซื้อกิจการก็จะมีการขอเสนอปรับผังพื้นที่มาสเตอร์แพลนด์ จากผังของรายเดิม จึงต้องขออนุญาต กนอ.อีกรอบ ก่อนที่จะเข้าไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด คาดจะแบ่งพื้นที่เป็นกว่า 40 แปลง รวม 500 ไร่ ซึ่งมั่นใจว่าจากการที่รัฐบาลไทยส่งเสริมอีอีซี และปัญหา”เทรดวอร์” ประกอบกับบริษัทมีแผนจะโปรโมทโดยสร้างโรงงานรองรับนักลงทุนอย่างรวดเร็วภายใน 90 วัน จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นมาตรการที่จูงใจให้ขายพื้นที่นิคมฯได้อย่างรวดเร็ว -สำนักข่าวไทย