ชุมพร 29 ก.ค.- สถานการณ์มังคุดภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.ชุมพร แหล่งปลูกแหล่งใหญ่ของภาคใต้ ปีนี้ชาวสวนมังคุดกำลังกังวลกับราคามังคุดที่ตกต่ำ
แรงงานกว่า 100 คน ภายในล้งหรือสถานที่รับซื้อมังคุดแหล่งใหญ่ที่สุดใน อ.หลังสวน จ.ชุมพร กำลังเร่งมือคัดแยกขนาดของมังคุดที่รับซื้อมาจากชาวสวนในแต่ละวัน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นชนิดที่แข่งกับเวลา เพื่อไม่ให้มังคุดที่รับซื้อไว้ผลสุกเกินไปก่อนจะส่งถึงมือผู้บริโภค อันจะส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของราคา
จากการลงพื้นที่ จ.ชุมพร ซึ่งถือเป็นตลาดกลางมังคุด พบว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มังคุดราคาตกต่ำ เป็นเพราะการขาดแคลนแรงงานในการคัดแยกมังคุด อย่างเช่นที่โรงรับซื้อมังคุดแห่งนี้ ผู้ประกอบการบอกว่า แต่ละวันจะมีชาวสวนมังคุดนำมังคุดมาขายวันละราว 200 ตัน ในขณะที่แรงงานที่มี สามารถคัดแยกมังคุดได้ในปริมาณเพียง 80 ตัน/วันเท่านั้น
“สมจิตร ระบินรัมย์” เป็นหัวหน้าคนงานภายในล้งแซมซัน เธอบอกว่า ปีนี้ที่ล้งแห่งนี้มีคนงานรวม 150 คน น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาเกินครึ่ง แม้ว่าผู้ประกอบการจะจ้างในราคาที่สูงขั้นต่ำ 700 บาท ไปจนถึง 1200บาท/วันก็ตาม แต่คนงานก็ยังมีไม่พอ สวนทางกับปริมาณมังคุดที่ชาวสวนนำมาขายในแต่ละวัน ที่กลับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านเกือบ 3 เท่าตัว เธอและเพื่อนแรงงานจึงจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อไม่ให้ผลผลิตที่รับซื้อไว้แล้วเสียหาย สุกหรือเน่าก่อนจะคัดแยกได้หมด
ด้านนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกมังคุดทุเรียนแห่งประเทศไทย ระบุสาเหตุที่ทำให้มังคุดในพื้นที่ชุมพรและหลายจังหวัดภาคใต้เริ่มประสบปัญหาราคาตกต่ำ เป็นผลมาจากปัญหาแรงงานภายในล้งรับซื้อมังคุดแต่ละแห่งที่มีไม่เพียงพอ ทำให้ล้งจำนวนมากรับซื้อมังคุดได้ในปริมาณจำกัดต่อวัน มังคุดที่ชาวสวนเก็บเกี่ยวไว้แล้ว จึงเกิดการค้างสตอก เมื่อค้างหลายวัน จึงส่งผลไปถึงเรื่องคุณภาพและราคา เสนอรัฐบาลควรหามาตรการผ่อนปรนกฎหมายแรงงานต่างด้าวในช่วง 3 เดือน ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวมังคุด คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน เพื่อให้แรงงานชาวกัมพูชาสามารถกลับเข้ามาทำงานได้
ด้านนายบรรจบ พรหมประทีป เกษตรกรชาวสวนมังคุด ให้ข้อมูลว่า ปีที่แล้วมังคุดให้ผลผลิตเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มังคุดราคดี ส่วนปีนี้มังคุดในชุมพรออกผลมากถึงราว 80 เปอร์เซ็นต์ โดยมังคุดเกรดเอ ณ วันนี้ราคาขายได้สูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 48 บาท ส่วนมังคุดลูกจิ๋ว ตกที่กิโลกรัมละ 10 กว่าบาท โดยเกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนค่าปุ๋ยและค่าจ้างเก็บเกี่ยวอยู่ที่กิโลกรัมละราว 25 บาท ดังนั้น หากเกษตรกรจะอยู่รอดได้ มังคุดเกรด A ต้องขายได้ไม่ต่ำจากกิโลกรัมละ 50 บาท
สำหรับจังหวัดชุมพร ซึ่งถือเป็นตลาดกลางมังคุดของภาคใต้ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมังคุดมากกว่า 70,000 ไร่ โดยในช่วงนี้ถือว่าเป็นเพียงช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเท่านั้น และนับจากนี้ไปอีก 2 เดือน คาดว่าจะมีมังคุดอีกเกือบ 50,000 ตัน ออกสู่ตลาด ยังไม่นับรวมมังคุดจาก จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา และระนอง ที่กำลังทยอยออกมาสมทบเพิ่ม ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลจะมีวิธีการรับมือในการจัดการผลผลิตจำนวนมากเหล่านี้ได้อย่างไร.-สำนักข่าวไทย