นนทบุรี 8 ก.ย.-กรมการค้าภายในเตรียมเสนอขยายระยะเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งออกไปอีก 3 เดือน หลังมาตรการสิ้นสุด 30 กันยายนนี้ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเพียงสินค้าปศุสัตว์ ที่ราคายังตกต่ำ โดยเฉพาะกุ้ง ส่วนราคามังคุดภาคใต้ดีขึ้นแล้ว
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่าหลังจากคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) มีมติช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ให้มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 16 มิ.ย-วันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดย สามารถระบายกุ้งจากเกษตรกรไปแล้ว 3,200 ตัน จากเป้าหมาย 5,000 ตัน คิดเป็น 66% งบประมาณ150 ล้านบาท แต่สถานการณ์ราคายังไม่ดีขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังชะลอตัว จากปกติผลผลิตจะต้องส่งออกมากถึง 80% และบริโภคในประเทศ 20% เท่านั้น
ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกลดลงเหลือ 70% ทำให้ราคายังทรงตัวต่ำ เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 115 บาท และผลผลิตยังมีอยู่คาดว่าจะหมดฤดูกาลในช่วงตุลาคมนี้ ทำให้เกษตรกร ยังต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น กรมการค้าภายใน จึงได้ขอขยายเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรออกไปอีก โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโช่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้ง เพื่อขอขยายระยะเวลาโครงการเพิ่มเติม ตามที่เกษตรกรขออีก 3 เดือน ที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติ ก็จะต้องขอรับการจัดสรรเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ต่อไป
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่าราคาสินค้าเกษตรในช่วงสัปดาห์นี้ โดยข้าวเปลือกทุกชนิดราคาเท่ากับสัปดาห์ที่แล้ว แต่ถือว่าทรงตัวสูงต่อเนื่อง เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 15,800 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 13,700 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,400 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,300 บาท ถือว่าเกษตรกรยังได้รับประโยชน์ เช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่แม้จะอ่อนตัวลงเล็กน้อย แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากกิโลกรัมละ 10.55 บาท และมันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.34 บาท ส่วนปาล์มน้ำมัน ทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.50 บาท
ส่วนเนื้อหมู ราคาเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 135-137 บาท เนื้อไก่ ราคาลดลงจากสัปดาห์ก่อนโดยเนื้อน่อง กิโลกรัมละ 80 บาท 31 สตางค์ จาก80 บาท 96 สตางค์ และสะโพก อยู่ที่กิโลกรัมละ 82 บาท 13 สตางค์ จาก 82 บาท 85 สตางค์ ขณะที่ไข่ไก่ ราคายังทรงตัว เบอร์ 3 อยู่ที่ฟองละ 4 บาท 30 สตางค์
สำหรับราคาผักหลายชนิด ถือว่าลดลงเยอะจากสัปดาห์ก่อน จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทั้งคะน้า ถั่วฝักยาวกะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ต้นหอม และผักชี ซึ่งในเดือนต.ค.นี้ จะเข้าสู่เทศกาลกินเจ ก็ได้เตรียมความพร้อมมาตรการเชิงรุก จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยได้ประสานสมาคมตลาดกลางเชื่อมโยงผัก จากแหล่งผลิต เพื่อเพิ่มปริมาณสู่ตลาด ไม่ให้เกิดการเก็งกำไร จนราคาสูงขึ้น รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ส่วนราคามังคุดตกต่ำตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงปลายฤดูกาล ที่ผลผลิตส่วนใหญ่คุณภาพเป็นเกรดตกไซต์ ดอกดำ ประกอบกับราคาในช่วงต้นฤดู ดีต่อเนื่อง ทำให้ราคามังคุด ปลายทางเริ่มชะลอตัวลง แต่ถือว่าเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ เพียง 3 วันเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มมังคุดชะอวดพูนผล อ.ชะอวดจ.นครศรีธรรมราช ที่ประสบปัญหา ได้ไปช่วยระบายสินค้า เปิดจุดรับซื้อ ทำให้ปริมาณผลผลิตในพื้นที่ลดลง คาดว่าทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช เหลือ 7-8 พันตัน ส่งผลให้ราคาปรับตัวดีขึ้นแล้ว โดยราคารับซื้อปัจจุบันราคานอกกลุ่มประมูล เกรดมันรวม ขยับมาที่กิโลกรัมละ 48-49 บาท จาก 25-30 บาท ส่วนเกรดตกไซส์ ขยับขึ้นมาที่กิโลกรัมละ 13-25 บาทแล้ว จาก 13-20 บาท ซึ่งได้ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อต่อเนื่อง และเป็นช่วงปลายฤดู ทำให้น่าจะผ่านช่วงราคาตกต่ำไปได้แล้ว.-สำนักข่าวไทย