ภูมิภาค 16 ก.ค. – แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่สถานการณ์ภัยแล้งยังคงคุกคามในหลายพื้นที่จากภาวะฝนทิ้งช่วง อ่างเก็บน้ำ 4 แห่งใน จ.นครราชสีมา น้ำเหลือศูนย์ พื้นที่เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วงมี 46 จังหวัด 169 อำเภอ
ที่ จ.นครราชสีมา ถูกภัยแล้งคุกคามอย่างหนัก ที่เห็นอยู่นี้คือสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เนื้อที่กว่า 1,800 ไร่ น้ำแห้งขอดจนเกิดสันดอนดินเป็นบริเวณกว้าง มีน้ำเหลือติดก้นอ่างเล็กน้อยเท่านั้น ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้เป็นสถานที่เลี้ยงวัวไปโดยปริยาย บอกว่าปีนี้แล้งหนักมาก น้ำในอ่างลดลงอย่างรวดเร็ว และแทบไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่าง
ขณะที่สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง ใน จ.นครราชสีมา ภาพรวมเหลือน้ำเพียง 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 19 ของความจุ เทียบกับปีที่แล้วที่มีน้ำ 209 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 60 ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางอย่างน้อย 4 แห่ง เหลือปริมาตรน้ำตัวเลขเป็นศูนย์ หรือเรียกว่าไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย ประกอบด้วย อ่างลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด อ่างห้วยตะคร้อ อ.คง อ่างห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ และอ่างบึงกระโตน อ.ประทาย ชาวบ้านในเขตชลประทานขาดแคลนน้ำอย่างหนัก
จากข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยพื้นที่เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วงมี 46 จังหวัด 169 อำเภอ จากภาพในพื้นที่สีส้มคือพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีปริมาณฝนสะสม 10 วัน น้อยกว่า 50 มิลเมตร แต่มากกว่า 10 มิลลิเมตร
สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ
ภาคเหนือมีปริมาณน้ำเหลือร้อยละ 38
ภาคอีสาน ร้อยละ 36 ภาคกลาง ร้อยละ 22
ภาคตะวันออก ร้อยละ 35
ภาคตะวันตก ร้อยละ 67
ภาคใต้ ร้อยละ 60
9 เขื่อนที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนนฤบดินทร์จินดา จ.ปราจีนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ขณะที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ 22 แห่ง ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 ภาคเหนือมี 5 เขื่อน ภาคอีสาน 9 แห่ง ภาคตะวันออก 4 แห่ง ภาคตะวันตก 1 แห่ง ภาคกลาง 3 แห่ง ซึ่งได้ประสานฝนหลวงออกปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนเพื่อรับมือฝนทิ้งช่วง
น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ฝนน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก และนับว่าน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง แม้ว่าไทยจะเข้าฤดูฝนมาเกือบ 1 เดือนแล้วก็ตาม (ประกาศฤดูฝนเมื่อ 20 พ.ค.62) จากแนวโน้มและคาดการณ์ปริมาณฝนระยะ 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม-สิงหาคมปีนี้ ฝนจะไม่มาก หลายพื้นที่อาจต้องเผชิญสถานการณ์ภัยแล้ง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝนน้อย เพราะร่องมรสุมตะวันตกฉียงใต้ไม่มีกำลังแรงมากพอทำให้ฝนตก แม้จะมีพายุมูนเข้ามาก่อนหน้านี้ แต่ก็ทำให้เกิดฝนได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ส่วนปรากฏการณ์ เอลนีโญ กับประเทศไทยปีนี้ยังถือว่าส่งผลกระทบกับไทยไม่ชัดเจนมากนัก
ส่วนสภาพอากาศในขณะนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 16-21 กรกฎาคม โดยภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับในบริเวณประเทศจีนและบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวปะทะอากาศและมีพายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก แต่พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย. – สำนักข่าวไทย