กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสั่งตรวจสอบเรือประมงที่จับโลมาปากขวดนับสิบตัวขึ้นเรือ หากทำผิดในน่านน้ำไทยจะเอาผิดข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ด้าน ดร.ธรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก สงสารโลมาใจจะขาด เตือนกฎหมายฉบับใหม่โทษหนักกว่าเดิม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้ประสานงานกับกรมประมงและกรมเจ้าท่าซึ่งระบุว่า เรือลำดังกล่าวถอนทะเบียนไทยไปแล้ว เดิมได้รับรายงานว่า เป็นเรือประมงไทยออกทะเลในเขตจังหวัดปัตตานีและเหตุการณ์ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน ขณะนี้ส่งเจ้าหน้าที่ทช. ไปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังจังหวัดปัตตานี อีกทั้งแจ้งความลงบันทึกประจำวันถึงเหตุการณ์นี้ซึ่งมีภาพชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเสียงไต้ก๋งและลูกเรือซึ่งเป็นคนไทย จึงต้องหาข้อมูลให้ได้ว่า เหตุเกิดก่อนจำหน่ายเรือให้ผู้ประกอบการมาเลเซียหรือไม่ แม้ว่าเกิดหลังจากเรือไม่ได้ถือสัญชาติไทยแล้ว แต่หากจับโลมาในน่านน้ำไทยก็ผิดกฎหมาย ไม่ว่า โลมาจะติดอวนขึ้นมาแบบตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เหมือนกรณีที่เคยมีเรือประมงนำฉลามวาฬขึ้นมาบนเรือเมื่อปี 2561 โดยทั้งเรือประมงและเจ้าของเรือจะถูกแจ้งความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาทเพราะเหตุการณ์ชัด ฟ้องด้วยภาพ และไม่สามารถปฏิเสธได้ นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประมงอีกด้วย แต่หากไม่ใช่เรือไทยและเกิดเหตุนอกน่านน้ำไทยไม่สามาารถเอาผิดได้ โดยวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.)ได้รับมอบหมายจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้เดินทางไปพบทางผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหาสาเหตุที่แท้จริงและกำหนดมาตรการป้องกัน
ส่วนดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า “เป็นคลิปที่ดูแล้วสงสารโลมาใจจะขาด เมื่อโลมาทั้งฝูงติดอวนปลาโอ น่าจะเป็นเรือประมงไทยครับ
ก่อนอื่นต้องเน้นย้ำว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคลิปจากเรือประมงจำนวนมากเกือบทั้งหมดเป็นคลิปน่ารัก พี่ๆ ช่วยกันปล่อยฉลามวาฬบ้าง เต่ามะเฟืองบ้าง ลงทะเล แต่คลิปนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับโลมา ซึ่งคงไม่ต้องถามถึงความรู้สึกของผมว่าเศร้าแค่ไหนแต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผมขอวิเคราะห์ตามภาพที่เห็นในคลิป
อันดับแรก ผมไม่คิดว่า เป็นการตั้งใจจับโลมา เป็นการติดมากับอวนมากกว่า โดยปรกติแล้ว โลมามักมาไล่กินปลาตามอวนเป็นประจำ โดยเฉพาะอวนล้อมจับปลาผิวน้ำ เช่น ปลาโอ ทูน่า จนกลายเป็นปัญหาระดับโลก ป้ายปลากระป๋องต้องเขียนไว้ว่า dolphin safe เพื่อยืนยันว่า นี่เป็นการจับภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรอิสระ (ทว่า ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ทำอันตรายโลมาเลย เพียงแต่ลดลงและมีการควบคุม)
เมื่อโลมาติดอวนขึ้นมา เรามีทางเลือกอย่างไร ? มันก็ขึ้นกับการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการที่เราบังเอิญจับสัตว์คุ้มครองที่ติดมากับอวนหากเราให้ความสำคัญกับสัตว์ เราก็รีบปล่อย แต่ถ้าเรายังเป็นห่วงปลาที่จับได้ เราก็อาจค่อยหาทางภายหลัง ในภาพเท่าที่เห็น โลมาหลายตัวอยู่ในสภาพที่บอบช้ำ หรือบางตัวอาจใกล้ตาย หรือตายแล้ว
ในทางกฎหมาย โลมาทุกชนิดถือเป็นสัตว์คุ้มครอง และพ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 โทษรุนแรงมากกว่าเดิมเยอะ (ไม่ใช่แค่ปรับ 4 หมื่นจำคุก 4 ปีอีกต่อไปแล้วครับ) กรมประมงก็มีการออกประกาศ “สัตว์ห้ามนำขึ้นเรือประมง” ซึ่งรวมโลมาอยู่ด้วย
ในประกาศมีหมายเหตุ ยกเว้นกรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิต ซึ่งก็คงต้องพิจารณากันว่า ในภาพเป็นการช่วยชีวิตหรือไม่? เพราะฉะนั้น กรมประมงคงต้องเริ่มจากการตามหาว่า นี่คือเรือลำไหน เกิดเหตุการณ์เมื่อใด ฯลฯ ซึ่งจากระบบต่างๆ ที่สร้างมาเพื่อแก้ปัญหา IUU น่าจะช่วยได้จากนั้นก็ต้องพิจารณากรณีที่เกิดต่อไป ตามกฎหมาย
สำหรับเพื่อนธรณ์ ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงมีความรู้สึกที่ยากบรรยายแต่ยังอยากบอกว่า มีชาวประมงมากมายที่พร้อมดูแลทะเลไทย พวกพี่ๆ เหล่านั้นช่วยเราได้เยอะมากจริงๆ
ยังอยากบอกชาวประมงส่วนน้อยว่า ตอนนี้ในเมืองไทยผิดไปจากเดิม คนไทยให้ความสำคัญกับทะเลมากมาย กฎหมายรุนแรง ระบบตรวจสอบดีขึ้น รวมถึงกระแสสังคมอยากให้มาช่วยกันดูแลทะเล เมื่อถึงเวลาต้องเลือก บางครั้งการเลือกปลาก่อนสัตว์หายาก อาจทำให้เกิดผลอย่างคาดไม่ถึง
สำหรับผมแล้ว 2 วันนี้ อารมณ์เหวี่ยงมากจากพะยูนตายหลายตัว มาเป็นข่าวดีฝูงฉลามที่เกาะห้อง กลายเป็นข่าวแย่โลมาติดอวนแต่อย่างน้อยที่สุด ยังดีใจที่คนไทยสนใจทะเลเยอะขึ้นจริงๆ ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับทะเลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้ช่วยดูแลทะเลได้ จึงใคร่ขอขอบคุณทุกๆ ท่านเหล่านี้ รวมทั้งเพื่อนธรณ์ที่ช่วยกันส่งข่าวประเด็นต่างๆ เข้ามาตลอดเรายังมีหวังทำให้ทะเลไทยดีขึ้นครับ” . – สำนักข่าวไทย