ทำเนียบรัฐบาล 21 มี.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมกรรมการนโยบายประมง พอใจการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย กำชับกรมประมงฟังปัญหา ความต้องการผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น ดึงทุกภาคส่วนทำงานร่วมองค์กรระหว่างประเทศใกล้ชิด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/65 ผ่าน ระบบ VTC ณ ห้องประชุม มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อติดตามขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ประชุมรับทราบเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบต่อการทำประมงนอกน่านน้ำระดับภูมิภาค ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ ซึ่งมีเรือประมงที่แจ้งความประสงค์ออกนอกระบบเพิ่มเติมรวม 2,505 ลำ และอยู่ระหว่างกรมประมงพิจารณาตรวจสอบ ยืนยันและประเมินความเหมาะสม รับทราบความก้าวหน้ากรณีกฎหมายการทำประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้รับฟังและอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฏหมายให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว
ที่ประชุมรับทราบการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการและให้ความสำคัญกับ การตลาดและการผลิต การควบคุม เฝ้าระวังโรคและสารตกค้าง อาหารปลอดภัยและการรับรองมาตรฐาน รวมทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและผู้มีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งต้องส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการนำชีวภาพและจุลลินทรีย์มาใช้ให้มากขึ้น ให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ. 2566 – 2570 ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาประมงในน่านน้ำไทย ส่งเสริมพัฒนาและแก้ปัญหาประมงนอกน่านน้ำ การพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมง
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางและมาตรการการพัฒนาการประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU ( IUU-Free Thailand ) โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินนโยบาย การสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือ การติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนามาตรฐานการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พอใจการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง มีความร่วมมือขับเคลื่อนที่มุ่งความยั่งยืนการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมกำชับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์โดยกรมประมงรับฟังปัญหา ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียให้มากขึ้น สร้างความเข้าใจและดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประมงและการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้เร็วและเป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อไป.-สำนักข่าวไทย