รร.รามาการ์เดนส์ 19 ส.ค.-รมว.สาธารณสุข เปิดประชุมรับฟังความเห็นหลักประกันสุขภาพประจำปี 59 ย้ำชัดไม่มีล้มระบบหลักประกันสุขภาพ
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม“รับฟังความเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2559” เน้นความร่วมมือทุกภาคส่วน สู่การพัฒนา “ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน” ใช้กลยุทธ์สร้างความเป็นเลิศ 4 ด้าน พร้อมย้ำชัด ไม่มีล้มระบบหลักประกันสุขภาพ ขณะที่บรรยากาศเวทีรับฟังความเห็นคึกคัก ทั้งตัวแทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ อปท. นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 450 คน
โดยวัตถุประสงค์สำคัญในการรวบรวมความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข และพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการระดับเขต และภาคประชาชน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี 2545 หรือ15 ปีมาแล้วและเมื่อมาถึงจุดนี้คงต้องดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงปัจจุบัน โดยเหลียวหลังศึกษาสิ่งที่ผ่านมา เพื่อมองอนาคตและมุ่งไปข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. คือ “ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน” และไม่เคยมีคำกล่าวล้มระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่มีการยึดระบบหลักประกันสุขภาพเพราะเป็นระบบของประชาชนไม่มีใครมายึดหรือล้มได้หากเข้าใจร่วมกัน ขณะที่คำว่า “ก้าวไกลไปด้วยกัน” คือสิ่งที่เราต้องทำร่วมกันอย่างวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ซื้อบริการ หรือผู้ให้บริการ ซึ่งต่างทำหน้าที่เพื่อความสมดุลนำไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน
ขณะนี้ประเทศไทยมีนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ในแง่ของระบบสุขภาพ คือ การดำเนินการระบบสุขภาพบนพื้นฐานของการสร้างคุณค่า ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศอาจสูงถึง 4 แสนล้านบาท และนับวันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นทำอย่างไรให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณค่าและทำประโยชน์โดยเฉพาะให้กับประชาชนได้มากที่สุด แต่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการแพทย์รุดหน้าจนตามไม่ทัน ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นหากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่า และทำให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพจำนวน 4 แสนล้านบาทเพียงพอได้ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นเวทีหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ได้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากนโยบายที่ชัดเจนทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. คือ ประชาชนสุขภาพดี ระบบสุขภาพยั่งยืน ถือเป็นข้อความสำคัญ โดยมีกลยุทธ์ของการนำไปสู่ความสำเร็จ คือการพัฒนาความเป็นเลิศระบบสุขภาพใน 4 ด้าน คือ1.ความเป็นเลิศด้านการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นหัวใจสำคัญระบบสุขภาพของประเทศ โดยเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกลุ่มวัย ทั้งด้านอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพสถานบริการทั้งหมด รวมถึงทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง
2.ความเป็นเลิศด้านการรักษา แม้ว่าจะมีการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพที่ดี แต่ในที่สุดย่อมต้องเกิดความเจ็บป่วย จึงต้องมีระบบบริการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับ โดยต้องมีการพัฒนาและสร้างภาคีเครือข่ายการบริการที่ชัดเจน โดยจับมือกับหน่วยบริการทุกสังกัดเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ที่ต้องเดินไปด้วยกันที่เรียกว่า “ประชารัฐ”
- ความเป็นเลิศด้านบุคลากรสุขภาพ ซึ่งต้องเดินควบคู่กับความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาล ที่ต้องมีแผนการพัฒนาและผลิตที่ชัดเจน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะระบบแพทย์ปฐมภูมิซึ่งถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจน และที่ผ่านมาได้มีนโยบายการเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครังลงไปถึงระดับตำบล โดยมีเป้าหมาย 1 ต่อประชากร 10,000 คน
- ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ผ่านมามีความพยายามใช้ราคากลางเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Fee schedule) จนถึงวันนี้เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ ซึ่งหากมีความร่วมมือจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั้งหมด จะทำให้เป็นระบบที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างมากในการดูแลประชาชนในช่วงวิกฤตฉุกเฉิน
“การดำเนินการเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทั้ง 4 ด้านนี้ จะเดินหน้าไปได้ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล และโปร่งใสตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงหวังว่าการรับฟังความเห็นในปีนี้จะนำระบบสุขภาพไปสู่เป้าหมายได้ และหากต่างฝ่ายเปิดใจพูดคุยกัน เชื่อว่าไม่มีทางที่ระบบสุขภาพของประเทศจะถึงทางตัน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. กล่าวว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสาธารณสุข การปรับหลักเกณฑ์กำหนดค่าใช้จ่ายหน่วยบริการ และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกระบวนการรับฟังความเห็นปี 2559 นี้ ได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 13 เขต มีผู้แสดงความเห็นทั้งสิ้น 8,929 คน ในการประชุมวันนี้จะเป็นการเปิดรับฟังความเห็นในระดับประเทศอีกครั้ง และจะมีการสรุปรวมรวมความเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. ในการปรับปรุงระบบบต่อไป
สำหรับการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนฯ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ์.-สำนักข่าวไทย