สหรัฐ 17 ม.ค.- ทรัมป์เอาเศรษฐกิจสหรัฐเดิมพัน ชัตดาวน์ลากยาวเกือบเดือน เสียหาย 15 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง แต่อเมริกันชนยังน้ำใจงาม เลี้ยงอาหารฟรีพนักงานรัฐ
สถานการณ์ชัตดาวน์ของสหรัฐ ก้าวเข้าสู่วันที่ 27 แล้ว สาเหตุหลักมาจากการที่แกนนำพรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสไม่ยอมอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวที่พ่วงงบสร้างกำแพงมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้อง การงัดข้อทางการเมืองครั้งนี้ส่งผลให้พนักงานของรัฐบาลกว่า 800,000 คนต้องหยุดพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
ย้อนไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อทรัมป์เปิดห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวชี้แจงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสในประเด็นการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก ทรัมป์ชี้ความน่ากลัวของพื้นที่ชายแดนตอนใต้ที่ปราศจากกำแพง โดยคาดหวังว่าจะให้ชาวอเมริกันเป็นพยานถึงความน่าสะพรึงกลัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในชาติ หากเดโมแครตยังขัดขวางงบประมาณสร้างกำแพง
ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่า พรรคเดโมแครตที่กลับเข้ามาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการหลังจากชนะการเลือกตั้งกลางเทอมนั้น ต้องการ “ดับฝัน” ทางการเมืองของทรัมป์ โดยหมายจะให้การคว่ำงบประมาณสร้างกำแพงเป็นหมากสำคัญที่จะล้มกระดานประธานาธิบดีฝีปากกล้าผู้นี้ ซึ่งหากมองในมุมนี้แล้ว ก็เท่ากับว่า แรงจูงใจของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ใสสะอาดดังที่ต่างฝ่ายก็กล่าวอ้าง
สหรัฐเผชิญวิกฤติชัตดาวน์มาแล้วมากกว่า 10 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นปี 2523 (1980) ในยุคของอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ การชัตดาวน์ครั้งแรกเกิดขึ้นเพียง 1 วัน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 700,000 ดอลลาร์
กระทั่งในปี 2538 (1995) ซึ่งเป็นยุคของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เหตุการณ์ชัตดาวน์เกิดขึ้น 21 วัน เสียหายทางเศรษฐกิจ 400 ล้านดอลลาร์ ต่อมาปี 2556 (2013) ชาวอเมริกันก็ถูกกรีดแผลซ้ำ ชัตดาวน์ 16 วัน สร้างความระส่ำระสายให้กับสหรัฐเนื่องจากเป็นช่วงเกิดวิกฤติการคลัง พนักงานรัฐบาลกว่า 700,000 คน ต้องถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ ชนวนเหตุปี 2556 มาจากความขัดแย้งเรื่องกฎหมาย Patient Protection and Affordable Care Act หรือ กฎหมายประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” แต่พรรครีพับลิกัน “ไม่แคร์” ขัดขวางสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเชื่อว่าจะเพิ่มภาระให้กับประชาชนและธุรกิจ
โอบามาแคร์ ถือ นโยบายเด่นของโอบามา ขยายความคุ้มครองประสุขภาพให้ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 15% หรือ 40 – 50 ล้านคน โดยกฎหมายกำหนดให้ชาวอเมริกันทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ ส่วนผู้มีฐานะยากจน รัฐบาลจะจัดสรรงบอุดหนุน ชัตดาวน์สหรัฐ ให้กรมธรรม์หรือเบี้ยประกันถูกลง นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีพนักงานหรือลูกจ้างทำงานเต็มเวลามากกว่า 50 คนจะต้องทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง
กระทั่งหลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 ตามเวลาสหรัฐ ชาวอเมริกันต้องฝันร้ายอีกครั้ง ลากยาวมาเกือบเดือนแล้ว ทำสถิติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ มี “กำแพง” เป็นเดิมพัน เนื่องจากทรัมป์ตั้งความหวังเอาไว้สูงมากว่า กำแพงซึ่งมีความยาวถึง 2,000 ไมล์ หรือประมาณ 3,000 กิโลเมตรนี้ จะเป็นสิ่งตอบแทนคะแนนเสียงที่ “ชมรมคนรักทรัมป์” โหวตสนับสนุนให้ก้าวสู่ตำแหน่ง
คงไม่เกินไปนักหากจะพูดว่า ชัตดาวน์ คือ “หมากตัวหนึ่ง” บนกระดานการเมืองที่ 2 พรรคใช้ในเกมอำนาจ ล่าสุด คณะทำงานของทรัมป์คาดการณ์ว่า ความเสียหายที่เกิดจากชัตดาวน์จะมีมูลค่าสูงเป็น 2 เท่าจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะทำให้ GDP ลดลง 0.1% ทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่คาดการณ์ใหม่ว่าอาจจะลดลง 0.1% ในทุกสัปดาห์
ขณะที่ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกัน คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ ในทุก 2 สัปดาห์ ที่ภาวะชัตดาวน์ดำเนินต่อไป หรือคิดเป็น 15 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังออกรายงานเตือนว่า สหรัฐอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ Aaa ในปีนี้ โดยระบุว่าปัญหาชัตดาวน์ อาจส่งผลกระทบต่อเพดานหนี้ของประเทศ
ด้านสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักรมีมติ 325 ต่อ 306 เสียง สนับสนุนให้รัฐบาลของเทเรซา เมย์ ยังดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไป บริหารประเทศต่อไปได้
เทเรซา เมย์ เตรียมเดินหน้าหาทางเลือกใหม่ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรวันจันทร์หน้า(21ม.ค.) โดยเธอได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคร่วมหารือกับเธอในช่วงก่อนที่จะถึงวัน BREXIT 29 มีนาคมนี้ ทำให้คณะรัฐบาลของนายกฯ หญิงอังกฤษ ยังคงมีโอกาสเดินหน้าเสนอแผนแยกตัวจากสหภาพยุโรปฉบับใหม่ได้ตามเป้า แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่า ร่างฉบับใหม่ที่จะออกมาจะเป็นรูปแบบใด หลังสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ มีมติคัดค้านแผน BREXIT เมื่อวันอังคาร ด้วยคะแนน 432 เสียง โดยมีผู้สนับสนุนในสภาเพียง 202 เสียง
นักวิเคราะห์การเมืองอังกฤษ ระบุว่าหากเป็นในช่วงเวลาปกติ ถ้าพรรครัฐบาลแพ้การลงมติที่สำคัญเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีก็สมควรต้องลาออก สำหรับมติคว่ำร่าง BREXIT นี้ ในบรรดา 432 เสียงที่ “คัดค้าน” เป็นเสียงที่มาจากพรรคของนางเมย์เองถึง 118 เสียง ย้ำชัดว่าเธอคุมหางเสือไม่อยู่ และก็เห็นได้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กคนนี้ไม่มีความคิดที่จะลงจากตำแหน่ง และหากการลงมติที่จะมีขึ้นอีกครั้งใน วันจันทร์นี้ (21) หากสภายังมีมติไม่ให้ผ่านอีก ก็จะมีการเสนอร่างฯ BREXIT ฉบับที่ 2 โดยมองว่าจะเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลมีเวลาราว 3 สัปดาห์ ในการจัดทำแผนใหม่มานำเสนอต่อสภาฯ
หรือไม่เช่นนั้น อีกความเป็นไปได้ ก็คือ การขอให้มีตัวกลางในรูปของคณะกรรมาธิการประสานงาน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อร่างข้อตกลงฉบับประนีประนอมขึ้นมาใหม่ เพื่อเสนอให้สภาผู้แทนฯ ลงคะแนนเสียงเป็นลำดับต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการพูดถึงการจัดทำประชามติครั้งใหม่ว่า อังกฤษต้องการจะออกจากอียูจริงๆ หรือไม่ ซึ่งหากจะมีการทำประชามติใหม่ ก็ต้องขอขยายเวลาเลื่อนวันที่ 29 มีนาคม 2562 ออกไปก่อน แต่หากความพยายามเหล่านี้ไม่สัมฤทธิ์ผลอังกฤษก็คงจะต้องออกจากอียู ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ โดยไร้ข้อตกลง ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับอังกฤษอย่างที่ไม่อาจประเมินได้
ขณะที่ นาย Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า การที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงปรับแข็งค่าขึ้น หลังมติคว่ำร่าง BREXIT สะท้อนว่า นักลงทุนในตลาดเงินต่างมองว่าความเสี่ยงของกรณี no-deal BREXIT ได้ปรับลดลง หรือมองว่ากระบวนการ BREXIT จะยืดเยื้อออกไป.-สำนักข่าวไทย