กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – ปตท.สผ. ยืนยันความพร้อมหลังได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 – 2566 เตรียมเดินหน้ารักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.ในฐานะผู้ชนะการประมูลและได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็น 60% ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ ซึ่ง ปตท.สผ.ยืนยันจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้ตามที่ยื่นข้อเสนอในการประมูล ด้วยประสบการณ์และความชำนาญกว่า 20 ปีของ ปตท.สผ. ที่เป็นผู้ดำเนินงานในแหล่งบงกช และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการคอนแทร็ค 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของแหล่งเอราวัณ ทำให้เรามีความเข้าใจพื้นฐานทางเทคนิคของทั้งสองแหล่งเป็นอย่างดี
โดยมั่นใจว่าแผนการพัฒนาและการลงทุนที่เราเสนอไป จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานปิโตรเลียมปัจจุบันไปยังสัญญาแบ่งปันผลผลิต รวมถึงรักษาระดับการผลิตตามที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอของแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่ไม่ต่ำกว่า 700 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ
สำหรับแหล่งบงกชซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว เราสามารถที่จะลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตได้ทันที ส่วนแหล่งเอราวัณมีแผนการดำเนินงานและการลงทุนที่ชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ดำเนินการปัจจุบัน ประกอบกับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาครัฐและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยเราจะเริ่มดำเนินงานทันทีเมื่อมีการลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซฯ บงกชและเอราวัณ เป็นแหล่งที่มีการผลิตมาเป็นระยะเวลานานและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เราจึงสามารถประเมินปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ทราบแล้วได้อย่างมั่นใจ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับในอดีตที่ยังนับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีพื้นที่ที่ต้องทำการสำรวจเป็นจำนวนมาก ไม่มีข้อมูลการผลิตมากพอ และยังต้องมีการลงทุนในการสร้างแท่นผลิตหลักที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานมาโดยตลอด ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ ปตท.สผ. สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้ลดต่ำลงได้มากขึ้นอีก จากการเพิ่มอำนาจต่อรองจากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น จาก 2 แหล่งรวมกัน เช่น ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง เป็นต้น
“เราสามารถยื่นข้อเสนอและผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้ในการประมูลครั้งนี้ โดยข้อเสนอยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุนเช่นกัน ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ดำเนินงานหลักสำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศเพื่อนำไปสู่การที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุด
ในการประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลเองด้วยสัดส่วนการลงทุน 100% ในแหล่งบงกช ขณะที่แหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ประมูลร่วมกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ” . – สำนักข่าวไทย