สิงคโปร์ 30 พ.ค. – องค์กรที่ติดตามโครงการพลังงานทั่วโลกเตือนว่า การที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแผนจะขยายการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างรวดเร็ว อาจทำให้การเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดชะลอตัวลง
โกลบอลเอเนอร์จีมอนิเตอร์ (GEM) ระบุว่า การที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้จะลงทุนมากถึง 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.12 ล้านล้านบาท) เพื่อขยายการผลิตก๊าซธรรมชาติ อาจทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 กิกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 เท่า และอาจนำให้มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี (LNG) เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ภูมิภาคนี้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เติบโต แต่การเพิ่มการผลิตก๊าซไม่ใช่ทางแก้ปัญหาระยะยาว ควรใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากกว่า
ฝ่ายสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติให้เหตุผลว่า ทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงสกปรกกว่าและปล่อยคาร์บอนมากกว่า ขณะที่ฝ่ายคัดค้านแย้งว่า ก๊าซธรรมชาติที่รั่วไหลเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะปล่อยมีเทนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหลายประเทศกำลังเสี่ยงลงทุนจำนวนมหาศาลโดยไม่คุ้มค่า เพราะทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ (IEA) แจ้งเมื่อปี 2566 ว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของโลกจะลดลงจากมากกว่า 4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2565 เหลือ 3.4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรภายในสิ้นคริสต์ทศวรรษนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593.-814.-สำนักข่าวไทย