เยอรมนี 25 มี.ค.-บมจ. ปตท. ประกาศเดินหน้าแผนการลงทุน 5 ปี ระหว่างพ.ศ. 2567 – 2571 ตามที่แจ้งต่อตลท. แล้ว ทุ่มงบลงทุนกว่า 8.9 หมื่นล้านบาทใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พร้อมเตรียมงบอีกกว่า 1 แสนล้านบาทขยายการลงทุนสู่พลังงานสะอาดในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ปตท. ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน พร้อมประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่คือ
– ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน
– ธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) อาทิ ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)
แผนการลงทุน 5 ปี (2567-2571) ซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว โดยที่ประชุมคณะกรรมการปตท. อนุมัติงบลงทุน 5 ปีของ ปตท. และบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก (Core Business) ประกอบด้วย
1. ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 30,636 ล้านบาทหรือคิดเป็น 34%
2. ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 14,934 ล้านบาทหรือคิดเป็น 17%
3. ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย วงเงินลงทุนรวม 3,022 ล้านบาทหรือคิดเป็น 4%
4. ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ วงเงินลงทุนรวม 12,789 ล้านบาทหรือคิดเป็น 14%
5. การลงทุนในบริษัทที่ปตท. ถือหุ้น 100% วงเงินลงทุนรวม 27,822 ล้านบาทหรือคิดเป็น 31%
สำหรับการลงทุนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของปตท. “Powering life with future energy and beyond” โดยในธุรกิจหลัก (Core Business) เป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ คิดเป็น 51% ของงบการลงทุน 5 ปี โดยมีโครงการหลักได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5
นอกจากนี้ปตท. ยังลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% ได้แก่ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท. ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 106,932 ล้านบาทซึ่งเป็นการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้แก่ การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ตลอดจนการขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้แก่ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science) ซึ่งรวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการ ธุรกิจอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต รวมถึงการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ
นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท. มีเป้าหมายการดำเนินงานใน 3 ด้านคือ
1. Business Growth ปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
2. New Growth ธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรในปี 2573 มากกว่าร้อยละ 30 พร้อมลงทุนและเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่เป็น Future Energy และที่ไกลกว่าพลังงานกลุ่ม Beyond
3. Clean Growth ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) ลง15% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)
นายอรรถพลกล่าวย้ำว่า การดำเนินงานของปตท. ในปี 2567 ต้องเผชิญความท้าทายที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอ เข้าสู่ Soft Landing ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ส่วนราคาพลังงานโลกเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเนื่องจากยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ราคาพลังงานโลกที่ผันผวนเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุมการผลิต น้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ อุปทานจากกลุ่มNon-OPEC ที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ส่วนผลการดำเนินงานของปตท. ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย สูงกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่มปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท
สำหรับสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่มปตท. ซึ่งเป็นธุรกิจที่แข่งขันเสรีทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจประกอบด้วย ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 45% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 9% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่น ๆ 17% ซึ่งมีผลการดำเนินงานจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น จากบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ที่มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย จากบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited (Lotus) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาสามัญในประเทศไต้หวัน และกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 7% ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจน้ำมันและธุรกิจ Non-Oil เช่น กาแฟ และร้านสะดวกซื้อที่มีกำไรต่อรายได้แค่เพียง 1% ขณะที่เป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของปตท. 22%
ในปี 2566 กลุ่มปตท. ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566 แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่มปตท. ปรับลดลง โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ลดลงจากปี 2565 อีกทั้งในปี 2566 กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยลดลง ประกอบกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีผลการดำเนินงานลดลง
ทั้งนี้ คณะกรรมการปตท. มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท โดยได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท เมื่อกันยายน 2566 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์รับปันผลรวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจปี 2566 ให้แก่รัฐแล้วประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท
นายอรรถพลกล่าวว่า ในปี 2566 ปตท. มีส่วนร่วมสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน จุดพลังพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ด้านพลังงานแห่งอนาคตมีการต่อยอดสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีให้รองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก จัดตั้งโรงงาน NV Gotion ผลิตชุดแบตเตอรี่ ร่วมกับ KYMCO Group จัดตั้ง Aionex จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพิ่มจุดติดตั้ง EV Charging Station แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้านธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน NRPT เปิดตัว Plant & Bean ประเทศไทย โรงงานรับจ้างผลิตโปรตีนพืช 100% ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารระดับโลก BRCGS Plant-based ที่แรก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Innobic Nutrition เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย สำหรับในด้านธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดการขนส่งสินค้าทางรางเส้นทาง “ไทย-ลาว-จีน” เชื่อมโยงระบบขนส่งไทยและภูมิภาคอาเซียน
ที่ผ่านมาปตท. ได้ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงวิกฤต ผ่านการดำเนินงานได้แก่ โครงการลมหายใจเดียวกันและลมหายใจเพื่อน้อง การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ. เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2563 – 2566 รวมแล้วกว่า 31,060 ล้านบาท
ด้านสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปตท. ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 86,173 ไร่ ใน 25 จังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มที่ได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมของกลุ่มปตท. ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเกษตรกรรมใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มรายได้ชุมชนกว่า 31.59 ล้านบาท และโครงการสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกกว่า 5.75 ล้านบาท.–512-สำนักข่าวไทย