ทำเนียบฯ 3 ก.ย. – นบข.เห็นชอบเพิ่มโควตาส่งออกข้าวอินทรีย์ไปตลาดยุโรป 5 พันตันต่อปี สั่งหลายหน่วยงานร่วมจัดทำ Big Data เกี่ยวกับข้าวเพื่อประเมินตลาด การผลิตข้าวให้แม่นยำมากขึ้น หามาตรการช่วยเหลือนาข้าวภาคกลางใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วมไหลบ่าหลายพื้นที่
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สั่งการให้หลายหน่วยงานทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิยชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมอุตุนิยมวิทยา สมาคมโรงสีข้าว สมาคมผู้ส่งออกข้าว ร่วมจัดทำ Big Data เกี่ยวกับข้าวทั้งหมด เพื่อประเมินตลาดข้าว การประเมินสถานการน้ำ เพื่อให้การพยากรณ์การผลิตข้าวแต่ละปีมีความชัดเจนแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลส่งสัญญาณเกษตรกรปลูกข้าวในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและบริโภคแต่ละปี
นอกจากนี้ ให้สำรวจว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ภัยจากเหตุฉุกเฉิน หรือภัยจากการใช้พื้นที่รองรับน้ำเพื่อเตรียมการรองรับ และยังสั่งหลายหน่วยงานสร้างความเข้าใจกับผู้ประสบปัญหาอุทกภัย หรือผู้เสียสละใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำไม่ให้ไหลไปยังพื้นที่อื่น ใช้แนวทางเหมือนกับถ้ำหลวงโมเดล โดยเฉพาะลุ่มน้ำภาคกลางที่ต้องรองรับน้ำจำนวนมาก เพื่อหามาตรการเพิ่มช่วยเหลือเกษตรกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรสบายใจมากขึ้น หลังจากประสบปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ โดยต้องศึกษาให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์รายงานที่ประชุม นบข. ว่า ณ 28 สิงหาคม 2561 เกษตรกรปลูกข้าว 48 ล้านไร่ จากเป้าหมายทั้งหมด 58 ล้านไร่ ยังเหลือเกษตรกรอีกประมาณ 600,000-700,000 คน กำลังปลูกข้าวช่วงนี้คาดว่าปริมาณปลูกจะใกล้เคียงเป้าหมาย 58 ล้านไร่ หรือ 25 ล้านตันข้าวเปลือก สำหรับการปลูกข้าวนาปี ในส่วนการปลูกข้าวรอง 2 คณะกรรมการปลูกข้าวครบวงจรตั้งเป้าหมายการปลูกข้าวนาปรัง 12.21 ล้านไร่ หรือ 8 ล้านตัน เริ่มหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปี หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม รวมทั้งหมด 33 ล้านตันต่อปี คาดว่าเหมาะสมกับขีดความสามารถส่งออกและความต้องการบริโภคในประเทศ เพื่อให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า นบข.เห็นชอบปรับเพิ่มโควตาส่งออกข้าวเปลือกอินทรีย์และข้าวเปลือกตามมาตรฐาน GAP เพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรป เพิ่มจาก 2,000 ตัน เป็ น 5,000 ตัน เพราะปัจจุบันการปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวมาตรฐาน GAP มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของโควตาส่งไปสหภาพยุโรป (อียู) จึงต้องการให้เพิ่มสัดส่วนมากขึ้น หวังส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์และข้าวมาตรสากล GAP ทั้งประเทศ 60,000 ตัน จากปี 2560 เพิ่มเป็น 280,000 ตันในปี 2564
นอกจากนี้ ยังกำชับโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกหรือการจำนำยุ้งฉาง เพื่อดึงสหกรณ์การเกษตรที่มียุ้งฉางของตนเองเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น โดยใช้เงื่อนไขเหมือนเดิมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรที่มียุ้งฉางของตนเอง เพื่อให้สหกรณ์มียุ้งฉางของตนเอง เพราะยังมีศักยภาพรองรับ 500,000 ตัน จากทั้งหมด 300 สหกรณ์ ภายใต้กรอบ 2 ล้านตันในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวจากยุ้งฉาง.-สำนักข่าวไทย