กรุงเทพฯ 20 พ.ย.-“นฤมล” รมว.เกษตรฯ ถกคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการผลิต มีมติยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เปลี่ยนเป็นช่วยชาวนาไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เตรียมเสนอ นบข. พิจารณาเพื่อนำเสนอ ครม. ตามลำดับ ผู้แทนชาวนาต่างพึงพอใจ ส่วน 3 โครงการชะลอขายข้าว คาดทันนำเข้า ครม. 29 พ.ย.นี้
นางสาวนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมครม. สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 จะนำโครงการตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เป้าหมายรวม 8.50 ล้านตันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาทและวงเงินจ่ายขาด 9,604.01 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการได้แก่
1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68
2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2567/68
สำหรับผลการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567 มีการพิจารณามติของนบข. ที่ให้ทบทวนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง) กรอบวงเงิน 29,980.1645 ล้านบาทเนื่องจากเกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ประกอบกับล่วงเลยระยะเวลาการเพาะปลูกเพื่อสนับสนุนปุ๋ยไปแล้ว อีกทั้งเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567 เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 72.20 อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวและนำผลผลิตออกสู่ตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินงานโครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน ครัวเรือนละ 20,000 บาทเป็นจำนวนมาก
ที่ประชุมจึงหารือถึงปัญหาอุปสรรคของโครงการปุ๋ยคนละครึ่งและข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวนาจึงมีมติยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แล้วเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนเป็นสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินรวมดอกเบี้ย 3.05% จำนวน 27,550.96 ล้านบาท โดยใช้กรอบวงเงินงบประมาณเดิมของโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยจะเสนอนบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบในสัปดาห์หน้าเพื่อนำเสนอต่อครม. ต่อไป
ทั้งนี้การเสนอให้ ครม. พิจารณาโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 500 บาท จะต้องเสนอให้ครม. พิจารณายกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เสียก่อน โดยมติครม. เดิมนั้น กำหนดหลักการว่า ในการจัดทำมาตรการ/โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเกษตรต่อจากนี้ไป ให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร รวมถึงให้พิจารณาดำเนินมาตรการ/โครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน การเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานหรือเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก้สินค้าเกษตรซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ของตนเอง ได้อย่างเพียงพอได้ในระยะยาว รวมถึงดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความยั่งยืนต่อไป
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า จากผลประชุมของคณะอนุกรรมการนบข. ส่งผลให้นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ประธานกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ตลอดจนผู้แทนชาวนาที่เป็นอนุกรรมการต่างแสดงความคิดเห็นและพึงพอใจต่อมติดังกล่าวเป็นอย่างมากเนื่องจากชาวนาได้รับเงินชดเชยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลผลผลิต โดยพิจาณาตามกรอบวงเงินที่มีอยู่เดิมจากโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง 27,550.96 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือจะเสนอโครงการคู่ขนานเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ศูนย์ข้าวชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อไปเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของรัฐบาล
ทั้งนี้การจะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่จะดำเนินการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมนบข. ว่า จะพิจารณาอย่างไร หรืออาจมีความเห็นเพิ่มเติมเงินช่วยเหลือจาก 500 บาทเป็น 1,000 บาท เมื่อนบข. มีมติแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จะนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป.-512.-สำนักข่าวไทย