กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – ก.เกษตรฯ ดึงภาครัฐ-เอกชนและนักวิชาการ พัฒนาเกษตรแผนใหม่ เน้นย้ำใช้ตลาดนำการผลิต ตามโครงการจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชิญผู้บริหารระดับสูงกรมต่าง ๆ นักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรแผนใหม่ ระบุว่าการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องเผชิญกับภัยพิบัติ โรค และแมลงระบาด ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องความต้องการของตลาด เมื่อเห็นผลผลิตใดได้ราคาดีก็จะทำตามกัน จนเกิดปัญหาล้นตลาด ราคาที่เคยสูงก็กลับตกต่ำ เช่น ยางพารา สับปะรด ไข่ไก่ กุ้งขาวแวนนาไม ที่เป็นห่วงขณะนี้ คือ ลิ้นจี่ และลำไยที่ปีนี้ผลผลิตมาก โดยเฉพาะลำไยยังประสบปัญหาอินโดนีเซียที่เคยรับซื้อจำนวนมากชะลอการน้ำเข้า
สำหรับผลไม้ที่จะมีปัญหาราคาตกต่ำใน 5 ปีข้างหน้า คือ ทุเรียน ราคาสูงขึ้นมากจากกิโลกรัมละ 60-70 บาท เพิ่มไปถึงกิโลกรัมละ 120-150 บาท เกษตรกรที่ขาดทุนจากยางพารารวมทั้งชาวสวนที่ปลูกผลไม้อื่นโค่นต้นทิ้งหันไปปลูกทุเรียนแทน ซึ่งประมาณ 5 ปี ต้นทุเรียนจะให้ผลผลิต เมื่อถึงตอนนั้นราคาก็จะตกต่ำ เพราะมากเกินความต้องการบริโภค
นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องการวางแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ โดยจะสำรวจความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศว่าต้องการผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชผัก ผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์ เพื่อจะได้กำหนดปริมาณพื้นที่ผลิตให้เหมาะสมตามนโยบายตลาดนำการผลิตจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปสนับสนุน เช่น กรมชลประทานมีแผนงานเพิ่มพื้นที่ชลประทานมากขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้มีพลังต่อรอง ซื้อปัจจัยการผลิตราคาถูกและขายผลผลิตราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวทางประกันภัยพืชผล สำหรับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมตามแผนการผลิตของประเทศ หากเกิดภัยพิบัติ โรค และแมลงระบาด หรือขายขาดทุน รัฐจะชดเชยความเสียหาย ซึ่งกำลังศึกษาพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 เพื่อนำมาใช้ดูแลและเป็นสวัสดิการของเกษตรกร.-สำนักข่าวไทย