กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – “กฤษฎา” หารือ 5 บริษัทส่งออก แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ สั่ง กยท.รับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ 15 ก.ค.นี้ หวังดึงราคาตั้งแต่ต้นทาง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยเรื่องปัญหาราคายางพาราซึ่งในการประชุม ครม.ล่าสุดอนุมัติงบประมาณ 2,568,783,400 บาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบกใช้ดำเนินโครงการสนับสนุนการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 670 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,744.138 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้ยางพารา 17,435.040 ตัน โดยวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะลงนามสัญญารับซื้อยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ กยท.เริ่มเข้ารับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศในวันเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ กยท.เร่งประชุมจัดทำรายละเอียดเพื่อให้พร้อมดำเนินการทันที
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น เมื่อ กยท.เข้าไปรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรแล้วจะส่งมอบให้ผู้ประกอบการส่งออกนำไปปั่นผสมสารเคมี เพื่อทำเป็นน้ำยางข้นเก็บรักษาไว้ส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐที่จะซื้อไปทำถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายมั่นใจว่าเมื่อลดปริมาณยาง (Supply) ที่จะเข้าสู่ตลาด เพิ่มความต้องการใช้ยางพารา (Demand) ในประเทศตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราภาครัฐจะทำให้ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงจากความผันผวนของตลาดซื้อขายล่วงหน้าและตลาดโลกนั้น ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรขายยางพาราได้ในราคาสูงขึ้นแน่นอน
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเชิญผู้แทนสมาคมผู้ค้าน้ำยางสดและสมาคมผู้ค้าน้ำยางแผ่น รวมทั้งบริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยรับเบอร์ ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด มาประชุมได้รับทราบว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีพ่อค้าต่างชาติปั่นราคายางในตลาดล่วงหน้า ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศมีความผันผวน ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งมอบยางพาราของทั้ง 5 บริษัทที่ทำสัญญาขายล่วงหน้าไว้แล้ว หากซื้อยางพาราในราคาที่สูงจะขาดทุน จึงต้องซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำลง
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้ตำหนิทั้งสมาคมและผู้ประกอบการส่งออกเรื่องการกดราคารับซื้อยางพารา ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร อีกทั้งจากที่สั่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบปริมาณยางพาราทั้งในประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ไม่พบว่าปริมาณผลผลิตยางพาราในสตอกโลกเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงให้ กยท. ดำเนินมาตรการพยุงราคายางพาราตั้งแต่ต้นทาง คือ ให้รับซื้อน้ำยางสดแทนการประมูลซื้อยางแผ่นเหมือนที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้มีน้ำยางสดออกสู่ตลาด ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย