กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – “กฤษฎา” งัดข้อกฎหมายวัตถุอันตราย ให้อำนาจ รมว.อุตสาหกรรม ออกคำสั่งห้ามใช้ ต้องจัดชั้นเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 โดยเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมจี้กรมวิชาการเกษตรวิจัยหาสารชีวพันธุ์และชีววิธีแทนจะได้หลุดพ้นข้อกล่าวหา
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำบันทึกรายงานถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเกษตรฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ออกคำสั่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลว่า ปัจจุบันมีสารหรือวิธีอื่นหรือไม่ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส รวมทั้งมีกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีเกษตรฯ ออกคำสั่งห้ามใช้หรือห้ามนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ทันทีหรือไม่ หากมีองค์ประกอบครบ 2 ข้อก็พร้อมเซ็นยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดก่อนออกจากตำแหน่ง
ตามบันทึกจัดทำโดยนางสาวเสริมสุข ระบุว่า ข้อเท็จจริงทางวิชาการปัจจุบันยังไม่มีสารหรือวิธีการที่เหมาะสมสามารถทดแทนสารไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไฟริฟอส ขณะนี้กรมวิชาการกำลังเร่งวิจัยเพื่อหาวิธีการแบบบูรณาการมาใช้ทดแทน โดยได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ซึ่งต้องใช้เวลาวิจัยประมาณ 2 ปี จึงได้ข้อสรุปชัดเจน ส่วนที่มีผู้กล่าวว่าสารกูลโฟซิเนต แอมโมเนียมสามารถทดแทนได้ แต่ต้นทุนการใช้สารต่อไร่จะสูงกว่าใช้พาราควอต ไกลโฟเซตประมาณ 3 เท่า และไม่สามารถควบคุมชนิดของวัชพืชได้มากเท่ากับสาร 2 ชนิดนี้
ประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการกับวัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น การใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามใช้จะต้องกำหนดให้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้) ซึ่งจะมีผลบังคับที่ตัวสารออกฤทธิ์ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามมาตรา 18(4) และวรรคสองแห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แต่ปัจจุบันวัถตุอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3
สำหรับการใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามนำเข้า การเพิกถอนทะเบียน ต้องเป็นไปตามมาตรา 40 คือ วัตถุอันตรายใดที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าไม่มีประโยชน์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือหากนำมาใช้แล้วอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีวิธีปกติตามควรที่จะป้องกันได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายนั้นได้ ส่วนตามมาตรา 25 กำหนดว่า ใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว ถ้าต่อมากฎหมายหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปหรือเหตุสำคัญ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต (อธิบดีกรมวิชาการเกษตร) มีอำนาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในการอนุญาตได้ตามความจำเป็น
นายกฤษฎา กล่าวว่า เมื่อได้รับรายงานเรื่องข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและปลัดกระทรวงเกษตรฯ แจ้งกลับว่าได้ทราบบันทึกข้อความเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยกับการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้ว ขอสั่งการดังนี้ เมื่อยังไม่มีสารเคมีหรือวิธีการอื่นใดมาใช้แทนได้นั้น ก็ให้เร่งทำวิจัยหรือประสานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อค้นหาสารหรือวิธีการอื่นใดมาใช้แทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยเร็ว มิฉะนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะถูกกล่าวหาต่อไปไม่สิ้นสุด ส่วนอำนาจการเพิกถอนหรือห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้นได้พิจารณาตาม ม.25 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายแล้ว กรมวิชาการเกษตรต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงทั้งจากเกษตรกรผู้ใช้หรือผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาหลักฐานให้ได้ว่าเมื่อใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วมีอันตรายจริง เพื่อจะได้ใช้อำนาจสั่งเพิ่มเงื่อนไขการใช้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย