กรมชลประทาน 3 พ.ค.-กรมชลประทานระบุช่วงหน้าแล้งการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้
พร้อมเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี
2561ย้ำทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ
ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ไม่รุนแรงมากนัก ส่วนผลการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ(1
พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 61) ถือได้ว่าเป็นไปตามแผน
โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 24,836 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)จากแผนที่วางไว้
25,067 ล้าน ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี
2560/61ไว้ทั้งสิ้น 7,700ล้าน ลบ.ม.ปรากฎว่ามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 8,553 ล้าน
ลบ.ม.
เกินแผนไปเพียงเล็กน้อยซึ่งถือว่าไม่มากนักเนื่องจากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ร่วมใจกันปฏิบัติตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นอย่างดี
ส่งผลให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 กรมชลประทาน
ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำโดยการใช้มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ
การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา
การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยใช้ Reservoir Operation Simulation และ
Reservoir Operation Rule Curve การตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน
การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อพยากรณ์น้ำและเตือนภัย การควบคุมปริมาณน้ำให้ได้ตามเกณฑ์
การเชื่อมโยงข้อมูล และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ
และการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืช เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ส่วนมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างนั้น
จะดำเนินตามแผนงานขุดลอก การซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน
เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทาน
ตัดยอดน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน
รวมไปถึงการใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำ
เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรด้วย
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน
ได้ใช้มาตรการปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปี
เพื่อใช้พื้นที่การเกษตรเหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก
หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ได้แก่พื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไปคือพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ
ในปีนี้มีการปรับเพิ่มพื้นที่มากขึ้นจากเดิมปีที่แล้วมีพื้นที่ 265,000 ไร่ เพิ่มเป็น
382,000 ไร่ รับน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 400 เป็น 550 ล้าน
ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2561เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนกรกฏาคมส่วนพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก
ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง
ทุ่งบางบาล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้
พื้นที่รวมกว่า 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้านลบ.ม.
กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายน
ก่อนจะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูหลากต่อไป–สำนักข่าวไทย