กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งทุกหน่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง 23 จังหวัด 74 อำเภอเสี่ยงขาดน้ำทำเกษตร แผนจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งยังเป็นไปตามแผน เมื่อเกษตรกรหันปลูกพืชอื่นทดแทนนาปรังเพิ่มขึ้น ด้านกรมชลประทานยืนยันปีนี้ปริมาณน้ำเพียงพอให้เล่นสงกรานต์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งด้านการเกษตร ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
นายกฤษฎา กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด ซึ่งมากกว่าปี 2560 รวม 3,079 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ 8,443 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ได้มีการการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 61) ทั้งประเทศใช้น้ำไปแล้ว 20,680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผน และลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 7,157 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 93 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
สำหรับสถานการณ์เพาะปลูกฤดูแล้งปี 2560/2561 จากปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 (ข้าวนาปรัง) ทั้งประเทศปี 2560/2561 วันที่ 28 มีนาคม รวมทั้งสิ้น 12.54 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 9.48 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3.06 ล้านไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแผนการปลูกข้าวนาปรัง พบว่า สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้เพียงร้อยละ 7 ถือว่าอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีพายุฤดูร้อนช่วงที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย แต่ยังไม่พบว่าเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการเตรียมการก่อนเกิดผลกระทบภัยแล้ง คือ การประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้ง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอ (มี.ค. – เม.ย. 61) พบว่า ไม่มีพื้นที่เสี่ยงคาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แต่มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร รวม 23 จังหวัด 74 อำเภอ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือสั่งการให้จังหวัดตรวจสอบพื้นที่และพิจารณาดำเนินการเตรียมการป้องกันและบริหารจัดการสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในจังหวัด ทั้งด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนเกษตรกร ติดตาม เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ โดยประสานงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2561 การบรรเทาผลกระทบทั้งในและนอกเขตชลประทาน ทุกหน่วยงานได้เตรียมกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ เสบียงสัตว์ เวชภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อให้การช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์หรือเมื่อมีการการร้องขอ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 2,365 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 242 คัน เสบียงสัตว์ 2,807 ตัน เมล็ดพันธุ์ 51 ตัน รวมทั้งการปฏิบัติฝนหลวง ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นมา
ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตฯ ภัยแล้ง รวมถึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณร้อยละ 60 ของเป้าหมาย ทั้ง 2 โครงการเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขโครงการไร่ละ 2,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ แต่ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีการจ่ายเงิน 2,000 บาท/ไร่ ให้แก่เกษตรกรรายใด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลง โดยคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบล หากเสร็จจะดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเร็วต่อไป
รัฐมนตรีเกษตรฯ ยังได้ย้ำให้ดำเนินการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำในฤดูแล้งและลดปริมาณข้าวในคลังข้าวในประเทศแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงประจำแต่ละจังหวัดกำหนดแผนการปลูกข้าวและปลูกพืชอื่นทดแทนให้ชัดเจน ส่วนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ทางกรมชลประทานยืนยันปริมาณน้ำมีเพียงพอ.-สำนักข่าวไทย