ธพว.ลุยต่อยอดยกระดับรายได้ชุมชน
กรุงเทพฯ 3 ก.พ.-ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
(ธพว. หรือ SME Development Bank) เดินหน้าพัฒนาเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจระดับชุมชน
เชื่อมโยงรับประโยชน์ EEC สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 15,270 ล้านบาท
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. เปิดเผยว่า
ธนาคารมีแผนยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยระดับชุมชนทั่วประเทศ
หรือ “จุลเอสเอ็มอี” สอดคล้องกับ 9 มาตรการยกระดับเอสเอ็มอีไทยของกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเสริมมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจเติบโตยั่งยืน
โดยภาคตะวันออกมีศักยภาพที่จะยกระดับเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในช่วงปีที่ผ่านมา
ธนาคารจึงได้ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตัวเล็กในชุมชนท่องเที่ยวภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง
เช่น ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด และชุมชนไร้แผ่นดิน จังหวัดจันทบุรี จนก้าวสู่แหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาการผลิตสินค้าชุมชนที่มีมาตรฐาน
เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
สำหรับปีนี้ (2561) ธนาคารจะขยายการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนภาคตะวันออก หรือ ELE (Eastern Local Economy) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) ที่เชื่อมโยงตั้งแต่เกษตรกรสวนผลไม้ ผู้รวบรวมผลไม้ ผู้แปรรูป
โรงงานแปรรูป ผู้ค้าปลีกค้าส่ง ผู้ส่งออก รวมทั้งห้องเย็นขนาดเล็ก(Cold Storage)ในแหล่งผลิต และเชื่อมต่อไปยังห้องเย็นขนาดใหญ่(Public Cold Storage) ที่มีโครงการจะลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดซึ่งเป็นศูนย์กลาง EEC (Eastern Economic Corridor) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจผลไม้ครบวงจร
ตลอดจนเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล
ธนาคารได้ลงพื้นที่และศึกษาพัฒนาในพื้นที่ 5 ชุมชน 3 จังหวัดประกอบด้วย
1.ชุมชนปากน้ำประแส
จ.ระยอง 2.ชุมชนทุ่งเพล
จ.จันทบุรี 3.ชุมชนเกาะกูด
4.ชุมชนเกาะช้าง และ 5.ชุมชนเกาะหมาก
จ.ตราด โดยทั้ง 5 ชุมชน รวมกันจำนวน 5,799 ครัวเรือน
ประชากรรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 16,300 คน
เมื่อผ่านการพัฒนายกระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาสินค้าชุมชน
และพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนแล้ว
คาดจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 15,270 ล้านบาท
เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง
ราคาค่าที่พักปรับสูงขึ้น และเกิดการซื้อสินค้าที่ระลึกมากขึ้นด้วย
“เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาธนาคารนำร่องพัฒนาพื้นที่
3 ชุมชน ได้แก่
ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ชุมชนไร้แผ่นดิน และชุมชนท่าระแนะ เริ่มตั้งแต่หาข้อมูล
ศึกษาเศรษฐกิจชุมชน ร่วมประชุมกับผู้นำชุมชนและคนในชุมชน สอบถามความต้องการ
สำรวจผู้ประกอบการในชุมชนว่ายังขาดเรื่องใดเกี่ยวกับการทำธุรกิจบ้าง พบว่า
ผู้ประกอบการคนตัวเล็กในชุมชนไม่มีการจัดทำบัญชี และขาดความรู้ด้านภาษี ทำให้กิจการไม่ราบรื่น
ขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เมื่อธนาคารเข้าถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว
จึงได้จัดกิจกรรมพัฒนาที่ตรงความต้องการของชุมชน เช่น
ฝึกอบรมการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ให้ความรู้ด้านภาษีแก่ชุมชน เป็นต้น
จนทำให้ผู้ประกอบตัวเล็กในชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” นายมงคล กล่าว
ส่วนการพัฒนาในด้านอื่น ๆ นั้น
ธนาคารจะศึกษาว่าแต่ละชุมชนยังมีจุดอ่อนด้านใดบ้าง
จากนั้นเข้าไปเสริมแกร่งให้ตรงจุด ที่ผ่านมา
ช่วยเหลือชุมชนยกระดับโฮมสเตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
ในส่วนการผลิตสินค้าบางชุมชนมีสินค้าขึ้นชื่อที่มีเอกลักษณ์ตัวเอง
ตลาดมีความต้องการสูง แต่มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน
จึงเป็นข้อจำกัดด้านการตลาด เช่น ข้าวเกรียบยาหน้า ของชุมชนน้ำเชี่ยว จ.ตราด
ธนาคารได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปคิดระบบ
รวมถึงพัฒนาเครื่องจักรช่วยการผลิตได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้น ช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐาน อย. ซึ่งจากการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมา
สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้นจากรายได้ 10,000 บาทต่อเดือนในปี
2559 เพิ่มเป็น
20,000 บาทต่อเดือนในปี
2560 เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายมงคล กล่าวด้วยว่า เป้าหมายการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวปี 2561 นี้
ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากธนาคารต้องพัฒนาศักยภาพชุมชน
ให้สามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชนภาคตะวันออกให้ได้
โดยยึดหลักให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และเมื่อชุมชนใดเข้มแข็งแล้ว
หากต้องการเงินทุนเพื่อต่อยอดขยายธุรกิจ ธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
(Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท มุ่งช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน
และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก
คิดอัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
(บสย.) 4 ปีแรก เพื่อยกระดับมาตรฐานท่องเที่ยวชุมชนสามารถรองรับนักท่องเที่ยว
ทั้งไทยและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี–สำนักข่าวไทย