มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 10 ธ.ค.- บมจ. อสมท ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาพิเศษ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “ในหลวงรัชกาลที่9 กับระบอบประชาธิปไตย” นักวิชาการ ระบุ ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่คลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งภายใต้รัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงบ่ายวันนี้(10ธ.ค.) บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “๙ ตามพ่อ สานต่อพระราชปณิธาน” เพื่อน้อมสำนึกในมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีการจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญและวันธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “ในหลวงรัชกาลที่9 กับระบอบประชาธิปไตย” โดยมี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และอดีตผู้พิพากษา, นางนววรรณ วุฒฑะกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา และมีนางอรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล ผู้ประกาศและผู้สื่อข่าวช่อง 9MCOT HD เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายปริญญา กล่าวว่า สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง คือพระองค์ทรงคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองตลอดการครองราชย์ 70 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 และ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจ ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะเห็นได้จาก พระบรมราโชวาท เมื่อครั้งมีการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ในปี 2549 โดยพระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทว่า
“ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจ ที่จะทำอะไรตามชอบใจ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัจริย์เป็นประมุข ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประธิปไตย” และเคยมีพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพ ว่า “เสรีภาพ ต้องใช้ด้วยอย่างระมัดระวัง และความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง
ด้าน น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอัจฉริยภาพ ด้านกระบวนการยุติธรรม เพราะทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสสอน โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาให้มีความยุติธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ และ มีความซื่อสัตย์ในการตัดสินคดีความต่างๆ ทั้งนี้ในฐานะที่ตนเองเคยอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาปรับใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้งในบ้านเมือง การที่ตุลาการจะเข้าไปตัดสิน จะต้องใช้กฎหมายให้ถูกต้อง เป็นธรรมไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และต้องน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาประพฤติปฏิบัติอยู่เสมอ โดยไม่ตีความย้อนหลังเพื่อลงโทษใคร
ขณะที่ นางนววรรณ ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือยุวกษัตริย์ กล่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จากที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจไปยังพื้นที่ต่าง ๆ พระองค์จะทรงสอบถามข้อมูลจากราษฎรในพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เข้าถึงต่อสภาพพื้นที่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีกิจกรรมขับเสภา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาที่คุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยชมรมโขนธรรมศาสตร์ และการขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง โดยวง TU Band ซึ่งมีประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย