รัฐสภา 10 ธ.ค. – วงเสวนา “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ” แนะแก้รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า คนยึดอำนาจมีความผิด นิรโทษกรรมไม่ได้ พร้อมเปิดทุกเสื้อสีร่วมออกแบบ “พงศ์เทพ” วอนขออย่าปิดทางแก้หมวด 1 หมวด 2 เพราะบางเรื่องเกี่ยวโยงมาตราอื่น
ในการเสวนา “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. ที่มีนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา
นายโภคิน กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะทำโดยคน 3 กลุ่ม คือ 1. คณะราษฎร 2. คณะรัฐประหาร และ 3. รัฐสภาและประชาชน ซึ่งฉบับที่คณะราษฎรทำ มีจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ เปลี่ยนอำนาจเป็นของราษฎร เป็นของประชาชน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่ายึดอำนาจกี่ร้อยครั้งก็ไม่เคยเปลี่ยนคอนเซปต์นี้ ไม่มีใครกล้าเขียนใหม่ว่าอำนาจไม่ใช่ของประชาชน นี่คือสิ่งที่พัฒนาในทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนฉบับที่คณะรัฐประหารทำ แน่นอนว่าทำเพื่อสืบทอดอำนาจ ที่เห็นได้ชัดคือ การให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและให้อำนาจมาก เรียกว่าไม่มีพัฒนาการเลย แต่ที่เป็นพัฒนาการสุดยอด คือ การนิรโทษกรรมตัวเอง ผ่านพระราชบัญญัติ จากนั้นตั้งแต่ปี 2534 ก็เป็นสุดยอดพัฒนาการนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญ แต่ที่บ้าไปกว่านั้น ตั้งแต่ฉบับปี 2550 ปี 2560 ก็ยังบอกว่า การยึดอำนาจทั้งหลาย รัฐธรรมนูญให้ถือว่า “ชอบ” หมด รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ จึงเกิดปัญหา แล้วถ้าบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไปขัดแย้งการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ถามว่าใครใหญ่ เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ของรัฐประหารใหญ่กว่า ก็ถือว่าเพี้ยนหมด นี่คือพัฒนาการในทางเลว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดีหรือว่าฉบับเลว ต่างก็ถูกฉีกทิ้งทั้งนั้น
นายโภคิน กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจะเป็นความร่วมมือกัน ซึ่งตนอยู่ในสภาชุดที่แล้วด้วย ในการศึกษาว่าจะแก้อะไรบ้างในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก แต่อันหนึ่งที่ต้องโฟกัส คือ ที่เกิดรัฐประหารตลอดเวลา เพราะศาลฎีกาในปี 2496 ไปตีความว่า ใครรัฐประหารสำเร็จ คนนั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ กลายเป็นบรรทัดฐานมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ปี 2510 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตีความมาตรา 17 ซึ่งเหมือนมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การใช้อำนาจนั้นมีกรอบกำหนดอยู่ แม้จะเป็นเผด็จการ หากไม่เข้าตามกรอบก็ไม่ถูกศาลฎีกาตีความ ดังนั้น การจะมองว่าเข้าหรือไม่เข้ากฎหมาย อยู่ที่เข้าหรือไม่เข้ากรอบ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมองอย่างไร ดังนั้น ต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ โดยกำหนดว่า การรัฐประหารเป็นกบฏ มีความผิดร้ายแรง จะนิรโทษกรรมไม่ได้ โดยบทบัญญัติเช่นนี้ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด แม้ว่าไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ ต่อไปก็ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หากมีการยึดอำนาจเมื่อไหร่ พ้นจากอำนาจจะต้องติดคุก ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจบ ตนอยากเห็นพัฒนาการอย่างนี้ ส่วนการเมืองจะเดินแบบผิดบ้าง ถูกบ้าง ดีบ้าง ประชาชนก็เรียนรู้ไป แต่ถ้าปล่อยไว้ก็จะเละแบบนี้ ตอนนี้ 91 ปี ถึงปล่อยไป 100 ปี ก็จะเหมือนเดิม
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการบอกว่าจะไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ถือเป็นกรณีพิเศษที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่การเขียนแบบนี้อาจทำให้มีปัญหาได้ เพราะรัฐธรรมนูญยึดโยงกันทั้งฉบับ และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยองคมนตรีจะต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น สมมติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บอกว่าไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกวุฒิสภาแล้ว หรือจะเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น ก็ต้องแก้ในหมวด 2 ดังนั้นก็ให้ยึดเฉพาะหลักการใหญ่ คือ รูปแบบของรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แค่นั้นก็กว้างพอสมควรแล้ว แต่ถ้าไปลงว่าจะแก้อะไรไม่ได้เลยในหมวด 1 หมวด 2 เขียนไปเขียนมาอาจมีปัญหาได้
ประการที่สอง คิดว่าเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะต้องยอมรับว่า เรามีความแตกแยก เรามีความเห็นต่าง โดยที่ไม่ฟังอีกฝ่ายเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี ประเทศอยู่ไม่สงบสุข พัฒนาไม่ได้ ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นจังหวะดีที่คนในสังคมไทยจะเปิดใจฟังกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่คำนึงว่าเป็นใคร ใส่เสื้อสีอะไร ทำให้เรามีโอกาสที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มีความปรองดองได้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามว่า การทำประชามติต้องทำกี่ครั้ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่า 3 พันล้านบาท ตนเคยถามนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ขอให้ยื่นญัตติด่วนว่าบรรจุเข้าพิจารณาในสภาได้ แม้จะยังไม่มีการทำประชามติก็ตาม เพื่อส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการวินิจฉัย ซึ่งที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ดังนั้น ครั้งนี้ก็เชื่อว่าถ้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็จะใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนเช่นกัน ศาลจะชี้ให้เราชัดเจนว่า จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพราะอย่างปี 64 ศาลเห็นว่าควรทำ 2 ครั้ง ไม่ใช่ 4 ครั้ง ทำให้เรามีโอกาสไม่ต้องเสียเงิน 3,000 กว่าล้านบาท และประหยัดเวลาไปกว่า 4-5 เดือน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะที่นายปริญญา กล่าวว่า การฉลองรัฐธรรมนูญไม่ใช่ฉลองในตัวรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการฉลองที่ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงหลักการที่ว่า ปวงชนชาวไทยคือเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ และทุกคนมีความเสมอภาค มีสันติภาพ โดยประชาชนมีสิทธิออกเสียง ในการเลือกรัฐบาลและนโยบายที่แต่ละรัฐบาลเสนอมา นั่นคือการฉลองรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มองว่าที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง คือ การเขียนรัฐธรรมนุญให้อ่านและเข้าใจง่าย ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง เทียบเท่ากับ สว. เลือกตั้ง แต่มีที่มาจากคณะรัฐประหาร ตนมองว่านี่คือปัญหาใหญ่ และอำนาจสูงสุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การให้อำนาจสูงสุดเป็นของคณะรัฐประหาร
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า หลักการของบ้านเมือง คือ ประชาชนต้องเป็นเจ้าของสูงสุดของประเทศ และเป็นการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ ซึ่งเราจะเลือกพรรคแตกต่างกันอย่างไร แต่ก็จบลงที่การเลือกตั้ง ถ้ามีประชามติก็จบที่ประชามติ นี่คือสิ่งที่เรายังต้องศึกษาอีกพอสมควร เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ใช่จิตวิญญาณของการฉลองรัฐธรรมนูญ.-314-สำนักข่าวไทย