รัฐสภา 10 ธ.ค. – ประชาชนร่วมฟังวงเสวนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร “ชูศักดิ์” ระบุหากแก้ รธน.ไม่สำเร็จ ควรสกัดมาตรา 256 ควรเขียนให้ชัดทำรัฐประหารไม่มีนิรโทษกรรม-รัฐประหารต้องหมดไป และร่าง รธน.โดย ส.ส.ร.
งานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 ในการเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่มไอลอว์ โดยมีนายเกรียงไกร หอมจันทร์เทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งเป้าไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างฯ เพื่อให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำเพื่อประชาชน เป็นไปเพื่อประชาชน หากเป็นเช่นนี้แล้วมี ส.ส.ร. คิดว่าเราจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร. ว่าจะยกร่างอย่างไร แต่เชื่อว่าหากกระบวนการมี ส.ส.ร. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมายกร่างฯ รัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ขณะนี้หลายฝ่ายพยายามอยู่ หากไม่สำเร็จ ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ตนคิดว่าจะย่ำอยู่กับที่ และใช้ร่างฉบับนี้ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 256 ที่ปัจจุบันเราติดอยู่กับมาตรานี้ เพราะเวลาจะแก้ไขมาตรานี้ เราติดอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุว่า ต้องมีเสียงของ สว. สนับสนุน 1 ใน 3 ที่ผ่านมาจึงจะเห็นว่า เรายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปหลายประเด็น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง ด้วยเหตุผลว่า เสียงของ สว.ไม่ถึง 1 ใน 3 ตนคิดว่าเราต้องสกัดมาตรา 256 ออกไป เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นพลวัต และสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอิสระ ฉะนั้น ที่มาขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาคือปัญหาของประเทศว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระ ศาลได้ หากวินิจฉัยอะไรออกมา คนนั้นคนนี้ก็พ้นจากตำแหน่ง เพราะเราไปมอบอำนาจให้เขา จนไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกันได้
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับองค์กรในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการหลายคน ว่าต่อไปนี้องค์กรอิสระควรจะมีที่มาจากรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เรามีรัฐธรรมนูญผ่านมาหลายฉบับ แต่มีจำนวนมากที่มาจากรัฐประหาร เกิดจากการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาธิปไตยมีจำนวนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ฉะนั้น รัฐประหารจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และเป็นอุปสรรคสำคัญของประชาธิปไตย เราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามให้มีการรัฐประหาร หากใครกระทำรัฐประหาร ไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถยอมรับรัฐประหารได้ และเรื่องรัฐประหารต้องหมดไป
นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความเห็นของตนดังเดิมเห็นเหมือนกับที่นายชัยธวัช ระบุว่า ต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง คือ ถามไปตอนที่ยังไม่มีร่างเข้าสู่สภาฯ แต่เมื่อประชาชนเห็นควรจึงมาแก้มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. จากนั้นก็ถามประชาชนอีกครั้ง แต่ขณะนี้มีความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่ไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแล้วพบว่า ประเด็นเรื่องการทำประชามติกี่ครั้งนั้น เราไม่เคยถามศาลรัฐธรรมนูญเลย และยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ ว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติ 2 ครั้ง ก็มีคนบอกว่าจะประหยัดเงินไป 4,000 ล้านบาท
“ยืนยันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจาก ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.ควรจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนั้น กระบวนการยกร่างฯ ที่มาของผู้ยกร่างฯ จำเป็นต้องยึดโยงกับประชาชน ย้ำว่ากระบวนการ ส.ส.ร. ควรจะต้องเกิดขึ้น และควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้านับหนึ่งได้” นายชูศักดิ์ กล่าว.-314-สำนักข่าวไทย